เราอาจรู้สึกว่าอาการ อกหัก เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ๆ ล้วน แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ความรักส่งผลต่อสมองของเราแบบเดียวกับสารเสพติด การเลิกรากันจึงทำให้เกิดอาการไม่ต่างจากการเลิกยาหรือสารเสพติด ดังนั้น Hello คุณหมอ จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ อาการอกหัก ในแบบวิทยาศาสตร์ และใช้วิธีการรับมือที่มีงานวิจัยรับรองแล้วว่าได้ผลกันดู
วิธีรับมือกับอาการ อกหัก
1. ระบายเรื่องราวให้คนที่ไว้ใจฟัง
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Evolutionary Behavioral Sciences เปรียบเทียบ อาการอกหัก ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย พบว่า เวลาอกหักผู้หญิงจะเจ็บปวดกว่าผู้ชายในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้หญิงจะทำใจได้เร็วกว่าผู้ชาย งานวิจัยชิ้นนี้ได้สำรวจชายและหญิงกว่า 96 ประเทศ จำนวน 5,700 คน แต่เนื่องจากเป็นแบบสำรวจออนไลน์ ผลการวิจัยจึงบอกภาพรวมของเพศชายและเพศหญิง ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่ม
ผลการสำรวจพบว่า หลังจากแยกทางกัน ผู้หญิงโดยเฉลี่ย 68% รู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์ ส่วนผู้ชายที่รู้สึกเจ็บปวดแบบเดียวกันคือ 66% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้หญิง 42% และผู้ชาย 37.5% มีอาการเจ็บปวดทางร่างกายเนื่องจากการอกหัก จะเห็นได้ว่า ผู้ชายเจ็บปวดน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยกลับพบว่า ผู้หญิงทำใจได้เร็วกว่า เพราะผู้หญิงพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ระบายให้เพื่อนฟัง ส่วนผู้ชายจะไม่ขอคำปรึกษาเรื่องความรักจากเพื่อน ทำให้ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเสียใจนานกว่าผู้หญิง ดังนั้น จึงแนะนำหนุ่ม ๆ ว่าหากอกหักควรพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ ไม่ควรเก็บความเศร้าไว้คนเดียว เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจเป็นโรคซึมเศร้า
2. เวลาเยียวยาทุกสิ่งได้…จริงหรือ
หลายคนแนะนำว่า เวลาจะช่วยเยียวยาแผลใจ แต่คนอกหักอาจกำลังนึกสงสัยว่า แล้วต้องใช้เวลานานแค่ไหนกันล่ะถึงจะทำใจได้ มีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ The Journal of Positive Psychology ให้ข้อมูลว่า 71% ของวัยรุ่น 155 คน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน (ประมาณ 11 สัปดาห์) ในการเห็นแง่ดีของการเลิกรากับคู่รัก
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระยะสั้น หากเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น การหย่าร้าง หรือในคู่รักที่คบกันมาหลายปี ผลการวิจัยพบว่า คู่ที่หย่าร้างจะใช้เวลาเฉลี่ย 18 สัปดาห์กว่าจะฟื้นตัวได้จากอาการเสียใจ
3. ให้เวลากับร่างกาย
งานวิจัยพบว่า ความรู้สึกรุนแรงของความรักส่งผลต่อสมอง ในแบบเดียวกันกับยาเสพติด เช่น โคเคน หรือยาบรรเทาปวดที่มีประสิทธิภาพ โดยความรักทำงานแบบเดียวกันกับสารเสพติด คือจะกระตุ้นสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกดี ดังนั้น เวลาต้องเลิกกับคนรักจึงเปรียบเหมือนกับการเลิกยาเสพติด ทำให้หลายคนทรมาน ในการเลิกนิสัยอะไรบางอย่างหรือเลิกสิ่งที่เสพติด เช่น เลิกติดเกม เลิกสูบบุหรี่ หรือเลิกติดยาเสพติด ต่างก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง ดังนั้น ไม่ควรคาดหวังว่าจะดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ หากใครที่เพิ่งอกหักใหม่ ๆ อาจต้องรอเวลาซักพักหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายปรับตัว แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นในภายหลัง
4. ออกกำลังกายช่วยได้
เวลาอกหัก ร่างกายจะมีฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เศร้า และเครียด การออกกำลังกายสามารถช่วยได้ ให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อาการอกหักจะดีขึ้น เนื่องจากช่วยปรับระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย และยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) อีกด้วย
5. บรรเทาความเจ็บปวด
งานวิจัยพบว่า การอกหักสามารถทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับการเจ็บปวดทางร่างกายอย่างรุนแรง เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า สมองจะตอบสนองต่อความเจ็บปวดจากการอกหัก เหมือนกับการเจ็บปวดทางร่างกาย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาอกหัก จึงรู้สึกเจ็บปวดเหลือเกิน
วิธีเยียวยาอาการคือ เมื่อเวลาผ่านไป ความเจ็บปวดจากการอกหักจะบรรเทาลง แต่ช่วงเวลาระหว่างนี้ไม่ควรติดต่อกับคนรักเก่า เช่น การโทรหาแฟนเก่า หรือการเข้าไปดูโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมของแฟนเก่า การทำแบบนี้จะทำให้อาการอกหักหายช้า ดังนั้น การไม่ยุ่งเกี่ยวกับแฟนเก่าอีกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
6. อย่าสงสัยในคุณค่าของตัวเอง
ดร. กาย วินช์ นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือเรื่อง How to Fix a Broken Heart ได้ให้คำแนะนำว่า ไม่ควรหาคำตอบว่าทำไมอีกฝ่ายถึงทิ้งคุณไป การพยายามหาคำตอบจะทำให้เราอ่อนแอทางอารมณ์ และเปิดประตูสู่ความเจ็บปวด ความโกรธ หรือความสับสนครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ นอกจากนี้ ดร.กาย ยังแนะนำว่า สิ่งที่มีประโยชน์และดีต่อการนับถือตัวเองของคุณคือ ให้ใช้เหตุผลของตัวคุณเอง ในการอธิบายให้ตัวเองและผู้อื่นฟังว่า ทำไมจึงเลิกรา ยิ่งไปกว่านั้นคุณควรจำไว้ว่า การอกหักเป็นคนละเรื่องกับความมีคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องไม่สูญเสียความภูมิใจ ศักดิ์ศรี และการนับถือตนเอง