backup og meta

สนทนากันผ่าน วิดีโอคอล ช่วยให้เราหายเหงาได้จริงไหม

สนทนากันผ่าน วิดีโอคอล ช่วยให้เราหายเหงาได้จริงไหม

การต้องอยู่ห่างจากคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่การเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เช่น เปลี่ยนทำงานที่ใหม่ เปลี่ยนที่อยู่ใหม่ บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกเหงา หรือรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมาได้ง่าย ๆ ยิ่งช่วงนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หลายคนอาจต้องกักตัว หรือต้องทำงานที่บ้าน ก็อาจทำให้ยิ่งเหงาเข้าไปใหญ่ เทคโนโลยีอย่าง วิดีโอคอล จึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่คนเราใช้ติดต่อสื่อสารกันในช่วงเวลาเหล่านี้ ว่าแต่การพูดคุยกันผ่านวิดีโอคอล จะช่วยให้เราหายเหงาได้จริงไหม Hello คุณหมอ มีข้อมูลเรื่องนี้มาฝากกัน

ความเหงาและโดดเดี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ

ความเหงาและความโดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกที่มักเกิดขึ้นเมื่อเราต้องอยู่ตามลำพัง หรือต้องแยกตัวจากคนอื่น หรือต่อให้เราอยู่กับผู้คนมากมาย แต่หากเรารู้สึกว่าไม่ได้รับการใส่ใจหรือการสนับสนุน หรือรู้สึกเป็นทุกข์ ก็ทำให้เราเหงาและโดดเดี่ยวได้เช่นกัน

แม้ความเหงาและความโดดเดี่ยวจะเป็นสภาวะที่พบได้ทั่วไป ไม่ว่าใครก็ต้องเคยเกิดความรู้สึกนี้ แต่หากปล่อยเอาไว้นาน ๆ ความเหงาและความโดดเดี่ยวก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่บางครั้งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า ความเหงา ความโดดเดี่ยว และการอาศัยอยู่ตามลำพัง สามารถทำลายสุขภาพได้ไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักเกินไป และโรคอ้วน ยิ่งหากคุณต้องอยู่ตามลำพัง รู้สึกเหงา หรือโดดเดี่ยวอย่างกะทันหัน ในช่วงที่อยู่ในวัยสูงอายุ ก็ยิ่งทำร้ายสุขภาพได้มากขึ้นไปอีก

ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมความเหงาและความโดดเดี่ยว

  • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล ทำให้มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือตัดสินใจฆ่าตัวตายจริง ๆ
  • ปัญหาสุขภาพกาย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฮอร์โมนแปรปรวน ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา การทำงานของสมองเสื่อมถอย โรคอัลไซเมอร์

งานวิจัยว่าด้วยเรื่อง วิดีโอคอล และความเหงา

ปัจจุบัน มีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิดีโอคอลและความเหงาหลายชิ้น จุดประสงค์ก็เพื่อหาคำตอบว่า การวิดีโอคอลนั้นสามารถช่วยบรรเทาความเหงาและความโดดเดี่ยวได้จริงหรือไม่ และงานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ ก็มักมุ่งเน้นไปที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุ เพราะถือเป็นวัยที่ความเหงาและความโดดเดี่ยวสามารถทำร้ายสุขภาพได้มากที่สุด

โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยในบ้านพักคนชรา 4 แห่ง และโรงพยาบาลอีก 1 แห่ง เมื่อทีมวิจัยให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวติดต่อกับคนในครอบครัวผ่านแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิดีโอคอล และเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลา 15 เดือน พบว่า การวิดีโอคอลช่วยให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวได้ง่ายขึ้นและบ่อยขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวน้อยลง แม้จะอยู่ในบ้านพักคนชราก็ตาม

แอปและโปรแกรมที่คนนิยมใช้ วิดีโอคอล หากัน

แอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่คนนิยมใช้วิดีโอคอลหากันในปัจจุบัน เช่น

  • Google Duo

เป็นแอปพลิเคชันวิดีโอคอลที่สามารถใช้งานได้ทั้งมือถือในระบบ Android และ iOS ผู้ใช้งานสามารถวิดีโอคอลได้สูงสุดครั้งละ 8 คน นอกจากนี้ คุณยังสามารถส่งข้อความในรูปแบบวิดีโอให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ได้ด้วย เรียกว่า คิดถึงกันเมื่อไหร่ก็สามารถเปิดข้อความวิดีโอดูแก้คิดถึง และคลายความเหงาได้ตลอด

  • FaceTime

แอปพลิเคชันวิดีโอคอลที่ติดตั้งมาในมือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์พกพาของค่ายแอปเปิล โดยคุณสามารถวิดีโอคอลผ่านแอปพลิเคชันนี้พร้อมกันสูงสุดได้ถึง 32 คน เพียงแค่บันทึกเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลของคนที่ต้องการไว้ในโทรศัพท์มือถือของคุณเท่านั้น

  • Zoom

ในช่วงทำงานที่บ้าน หรือเรียนหนังสือที่บ้านเพราะโควิด-19 หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อโปรแกรมสำหรับวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) อย่าง Zoom กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นโปรแกรมที่หลายบริษัทนิยมใช้ในการประชุมทางไกล หากเป็นการสนทนาระหว่างสองคน จะสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ฟรีได้ 24 ชั่วโมง แต่หากเป็นการสนทนาตั้งแต่สามคนขึ้นไปถึง 100 คน จะใช้ฟรีได้ 40 นาที

  • Skype

อีกหนึ่งโปรแกรมสำหรับวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่ได้รับความนิยมมากไม่แพ้ Zoom หากเป็นการโทรคุยหรือวิดีโอคอลระหว่างผู้ใช้ Skype ด้วยกัน คุณสามารถใช้บริการได้ฟรี จุดเด่นของ Skype คือ สามารถโทรเข้าเบอร์มือถือ หรือโทรศัพท์บ้านได้ แต่คุณจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ไม่ได้โทรฟรี

  • Snapchat

แอปพลิเคชันนี้อาจไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมากนัก แต่หากเป็นในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป Snapchat ถือว่าได้รับความนิยมมากกว่าแอปพลิเคชันแชทอื่น ๆ เลยทีเดียว นอกจากจะใช้วิดีโอคอลหากันได้แล้ว จุดเด่นอีกอย่างของ Snapchat คือ คุณสามารถส่งข้อความภาพขำ ๆ หรือวิดีโอสั้น ๆ ให้กับอีกฝ่ายได้ และมีฟิลเตอร์ให้เลือกใช้มากมาย และที่ไม่เหมือนใครเลยก็คือ ข้อความที่คุณส่งนั้นจะหายไปเองในเวลาอันสั้น

  • Line

เมื่อพูดถึงแอปพลิเคชันสำหรับการวิดีโอคอล จะไม่พูดถึงแอปพลิเคชันยอดฮิตในหมู่คนไทยอย่าง Line ก็คงจะไม่ได้ นอกจากจะใช้วีดีโอคอลหากันได้แล้ว Line ยังมีฟีเจอร์อื่นอีกหลากหลาย ที่คนชื่นชอบกันมาก เช่น สติ๊กเกอร์น่ารัก ๆ ที่มีให้เลือกหามาใช้มากมาย อีกทั้ง Line ยังมีพื้นที่ที่เรียกว่า “Timeline” ไว้ให้คุณแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ กับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักได้ด้วย

แม้การสนทนากันผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ โทรหากัน หรือวิดีโอคอลหากัน จะช่วยให้หายเหงาได้ แต่หากทำได้ เราแนะนำให้คุณหาเวลาไปพบปะกับคนที่คุณรักแบบตัวต่อตัวบ้าง เพราะอย่างไร การได้พูดคุยกันแบบเห็นหน้า ย่อมดีกว่าการติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตแน่นอน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

A video call to connect seniors with loved ones. https://www.carenetproject.eu/a-video-call-to-connect-seniors-with-loved-ones/. Accessed June 26, 2020

Video-calls to reduce loneliness and social isolation within care environments for older people: an implementation study using collaborative action research. https://bmcgeriatr.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12877-018-0746-y. Accessed June 26, 2020

Are video calls a loneliness cure?. https://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/are-video-calls-a-loneliness-cure. Accessed June 26, 2020

Exploring the use of video calls to help prevent loneliness and reduce the risk or impact of dementia. https://www.arc-swp.nihr.ac.uk/exploring-the-use-of-video-calls-to-help-prevent-loneliness-and-reduce-the-risk-or-impact-of-dementia. Accessed June 26, 2020

The ten best video-chat apps out there, ranked. https://www.timeout.com/things-to-do/best-video-chat-apps-conferencing-android-iphone-pc. Accessed June 26, 2020

How Loneliness Affects the Mind and Body. http://blogs.einstein.yu.edu/how-loneliness-affects-the-mind-and-body/. Accessed June 26, 2020

Social isolation, loneliness in older people pose health risks. https://www.nia.nih.gov/news/social-isolation-loneliness-older-people-pose-health-risks#:~:text=Health%20effects%20of%20social%20isolation,Alzheimer%27s%20disease%2C%20and%20even%20death. Accessed June 26, 2020

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/07/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีจัดการกับ ความเหงา ก่อนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต

กังวลเรื่องโรคระบาดจนจิตตก แล้วจะ ดูแลสุขภาพจิต อย่างไรดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา