backup og meta

ทนไม่ไหว แต่ยังต้องทน จะมี วิธีอดทนกับเพื่อนร่วมงาน อย่างไรบ้าง

ทนไม่ไหว แต่ยังต้องทน จะมี วิธีอดทนกับเพื่อนร่วมงาน อย่างไรบ้าง

เคยไหมที่รู้สึกไม่โอเคกับเพื่อนร่วมงาน ทำไมเอาเปรียบฉันแบบนี้? โยนงานอีกแล้วหรือ? การพบเจอเพื่อนร่วมงานที่จัดว่าแย่ และก่อปัญหาที่กระทบตัวคุณ อาจส่งผลให้คุณมีอาการเครียดได้ แม้ปลายทางของปัญหาอาจจบลงได้ง่าย ๆ ด้วยการลาออก แต่ปัจจัยในชีวิตของคนเราที่แตกต่างกัน อาจเป็นเหตุผลให้เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เหมือนกันทุกคน ทั้งเรื่องภาระค่าใช้จ่าย อายุที่มากขึ้น หรือประสบการณ์ทำงานที่ยังน้อย และถ้าหากคุณยังจำเป็นต้องทนกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา เพื่อรอจังหวะดี ๆ ที่จะเข้ามาล่ะก็ วันนี้ Hello คุณหมอ มี วิธีอดทนกับเพื่อนร่วมงาน มาฝากทุกท่านค่ะ

ความเครียดจากที่ทำงาน

การไปออฟฟิศเพื่อทำงานสำหรับใครหลายคน อาจไม่ใช่สถานที่ที่ต้องไปเพื่อแสดงออกถึงทักษะ ประสบการณ์ ความรู้และความสามารถในการที่จะร่วมพัฒนาให้องค์กรที่ปฏิบัติงานอยู่สามารถเจริญเติบโตและก้าวหน้าต่อไป เพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้ง และหลายครั้ง ที่ทำงานอาจเป็นขุมนรกที่ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ความเครียดจากที่ทำงานเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ละออฟฟิศก็จะมีสาเหตุที่ต่างกันออกไป เช่น ระบบของงานที่ไม่เป็นสัดส่วน การทำงานที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้ตั้งแต่วันแรก หรืออาจมาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เมื่อความไม่สบายใจจากปัญหาเหล่านี้ถูกสะสมเข้าทุกวัน ๆ ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเครียด หรืออาจนำไปสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าเพราะหาทางออกจากปัญหาเหล่านั้นไม่ได้

ความเครียดจากเพื่อนร่วมงาน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งชาวออฟฟิศ และไม่ออฟฟิศต้องปวดหัวไปตาม ๆ กัน ก็คือ ปัญหาความเครียดที่มาจากเพื่อนร่วมงาน การอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก ย่อมหมายถึงการอยู่กับความแตกต่างนับร้อย ยิ่งอยู่กันหลายคน ก็ยิ่งมีความแตกต่างทางความคิดและทัศนคติที่มากตามไปด้วย หลายคนถูกบูลลี่ในที่ทำงาน หลายคนถูกลั่นแกล้งให้รับผิดที่ไม่ได้ก่อ หรือหลายคนต้องรับภาระงานที่เกินหน้าที่ของตนเอง เนื่องจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่เอาไหน หรือการถูกโยนงาน การถูกเอาเปรียบจากเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเป็น การทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่ภาระหน้าที่นั้นมากน้อยไม่เท่ากัน และเช่นเดียวกับปัญหาจากระบบการทำงาน หากปัญหาเหล่านี้ถูกสะสมเอาไว้มากเข้า ก็สามารถส่งผลให้เกิดโรคเครียด หรือโรคซึมเศร้าตามมาในภายหลังได้

วิธีอดทนกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ให้เสียสุขภาพจิต

เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเรา จึงควรจำเป็นที่จะต้องหาหนทางในการจัดการกับความรู้สึกต่าง ๆ อันเกิดมาจากปัญหารุมเร้าของที่ทำงานและเพื่อนร่วมงาน คุณสามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้ เพื่อรับมือกับเพื่อนร่วมงานของคุณได้

อยู่กับเพื่อนร่วมงานที่มีพลังในเชิงบวก

เราทุกคนต่างมีงานที่รักและใฝ่ฝัน แต่จะความฝันนั้นอาจพังทลายลงเพราะเพื่อนร่วมงานแย่ ๆ การอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานที่ทำให้ชีวิตของคุณยุ่งยากอย่างไม่สมเหตุสมผล โดนแกล้ง ใส่ร้าย หรือเอาเปรียบคงไม่ทำให้คุณรู้สึกอยากทำงานขึ้นมาได้ หาโอกาสคุยกับหัวหน้าหรือบอสที่มีทัศนคติเป็นกลาง หรือเชิงบวก เพื่อขอคำปรึกษา รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานที่มีทัศนคติเชิงลบ แต่เลือกคบเพื่อนที่มีทัศนคติเชิงบวก ให้กำลังใจและร่วมแก้ไขปัญหาจะดีกว่า

ใช้ความเงียบ และตั้งสติ

ก่อนการปะทะคารมกับฝ่ายตรงข้าม ควรคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทีม ลองเงียบ และตั้งสติ พูดในสิ่งที่ควรพูดและเป็นข้อเท็จจริง ไม่ควรเสียเวลาที่จะระเบิดอารมณ์ไปกับคำพูดของอีกฝ่าย หรือควรเงียบไปเลย จนกระทั่งอีกฝ่ายเริ่มเหนื่อย และหยุดพูดไปเอง

หูฟังช่วยได้

ลงทุนซื้อหูฟังดี ๆ สักหนึ่งอัน ยิ่งเลือกหูฟังที่สามารถตัดเสียงรบกวนจากภายนอก ชนิดที่ว่านอกจากเสียงเพลงที่กำลังฟังอยู่นั้น ก็ไม่สามารถได้ยินเสียงอื่น ๆ ได้เลย ก็จะสามารถช่วยให้คุณเลี่ยงหัวข้อสนทนาที่ทำให้คุณเสียสุขภาพจิตโดยไม่จำเป็นได้

รักษาระยะห่างของระดับความสัมพันธ์

บางครั้งคุณอาจไม่ได้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานแย่ ๆ ที่คนอื่นพูดถึง แต่เพื่อนสนิท หรือคนในกลุ่มเพื่อนของคุณเป็นผู้มีปัญหาด้วย ให้ทำความเข้าใจในเรื่องของระดับความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เตือนตัวเองว่าเรามาทำงาน ไม่ได้มาหาเรื่องกับผู้อื่น ไม่ควรเอาตนเองเข้าไปร่วมกับทุกปัญหาที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงาน

เปิดอกพูดคุย

บางครั้งปัญหาความไม่เข้าใจกันในที่ทำงาน อาจมาจากการไม่สื่อสารกันโดยตรง แต่เป็นการสื่อสารผ่านตัวหนังสือ เช่น ข้อความในไลน์ หรืออีเมล์ หากมีตรงไหนไม่เข้าใจ หรือสับสน ควรสอบถามและพูดคุยให้ชัดเจน ดีกว่าเก็บเอาไปคิดมากแล้วเข้าใจผู้อื่นผิดจนตนเองเสียสุขภาพจิต

อย่าไปสนใจ

ระลึกไว้เสมอว่า คุณมาทำงานที่นี่ เพราะองค์กรแห่งนี้ต้องการศักยภาพในตัวคุณ ขณะเดียวกัน เพื่อนร่วมงานแย่ ๆ หรือเจ้านายแย่ ๆ ที่ส่งผลกระทบกับคุณ ก็เข้ามาที่นี่ด้วยเหตุผลเดียวกัน ควรมีสติและอยู่กับปัจจุบัน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการปะทะ หรือการแสดงอากัปกิริยาใดที่จะก่อให้เกิดปัญหา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เชิ่ดไว้ ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ

ลาออก

การลาออก เป็นทางออกสุดท้ายของการต้องทนอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานประเภทที่ไม่น่าจดจำ ทำไมเราถึงต้องทน? ในเมื่อเรามีทางเลือกและโอกาสที่ดีกว่าที่ยังไปต่อได้ ยื่นใบลาออกแล้วเก็บของออกมา ลาทีความทรงจำร้าย ๆ ย้ายงานใหม่ไปเสียดีกว่า แต่…..ก่อนที่จะคิดถึงการลาออก ควรระลึกไว้เสมอว่า การย้ายไปทำงานที่ใหม่ก็เสมือนกับการสุ่มดวง คุณอาจได้เจอเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายที่ดีขึ้น หรือแย่เหมือนที่ทำงานเก่า หรืออาจจะแย่กว่าเดิม ควรมีการบริหารความเสี่ยงของตนเองให้ดี เพราะคุณไม่สามารถที่จะหนีจากที่ทำงานแย่ ๆ ได้ในทุกวันและทุกเดือน ดังนั้นหากอดทนได้ และคุณจัดการกับความปวดประสาทของเพื่อนร่วมงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องหนีไปไหน แต่ถ้าคุณรู้สึกไม่ไหว การลาออกเพื่อเริ่มต้นใหม่ อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Workplace Stress – General. https://www.ccohs.ca/oshanswers/psychosocial/stress.html. Accessed on January 16, 2020.

5 Ways Co-Workers Can Affect Your Mental Health. https://vantagepointrecovery.com/5-ways-co-workers-can-affect-mental-health/. Accessed on January 16, 2020.

Patience, Samsung Friends. http://www.centerforworklife.com/patience-samsung-friends/. Accessed on January 16, 2020.

How to deal with difficult co-workers. https://www.reliableplant.com/Read/26419/difficult-coworkers-employment-relationships. Accessed on January 16, 2020.

Work Anxiety: 10 Tips to Manage Anxiety at Work. https://www.psycom.net/10-ways-manage-anxiety-work. Accessed on January 16, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำงานหนักต้องระวัง เครียดเรื่องงาน อาจส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ

ย้ายบ้าน ย้ายงานใหม่ มีวิธีปรับตัวอย่างไร เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา