backup og meta

รักขมหรือรักหวาน? คุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มี การใช้ความรุนแรง หรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    รักขมหรือรักหวาน? คุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มี การใช้ความรุนแรง หรือเปล่า

    เราทุกคนต่างก็ควรมีความสัมพันธ์หรือความรักที่ดี ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย มีคุณค่า และทำให้เรารู้สึกได้ถึงความรักที่แท้จริง แต่สำหรับบางคน อาจยังไม่ได้เจอกับรักดีๆ เพราะมัวแต่อยู่กับความรักแย่ๆ หรือความสัมพันธ์ที่มี การใช้ความรุนแรง ที่ไม่ใช่แค่ทำให้เสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่ยังส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคุณอีกหลายด้าน ทั้งการเงิน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การงาน สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์ของตัวเองตอนนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่มี การใช้ความรุนแรง หรือไม่ Hello คุณหมอ มีจุดสังเกตมาฝาก

    สัญญาณเตือนว่ารักที่มีไม่ใช่รักที่ดี

    หลายคนอาจคิดว่าความสัมพันธ์แบบกดขี่ หรือความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง (abusive relationship) มักจะต้องมีการลงไม้ลงมือ ทำร้ายร่างกาย แต่ความจริงแล้ว การใช้ความรุนแรงมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่ร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อจิตใจ ความรู้สึก รวมไปถึงการเห็นคุณค่าในตัวเองของคุณด้วย

    รูปแบบความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง เช่น

    • ทำร้ายร่างกาย เช่น การทุบตี เตะต่อย ดึงผม บีบคอ ขว้างปาข้าวของใส่ ทำให้ร่างกายคุณได้รับบาดเจ็บ
    • ทารุณกรรมทางเพศ ด้วยการข่มขืน กระทำชำเรา หรือบังคับให้คุณทำกิจกรรมทางเพศ เช่น จูบ มีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยไม่เต็มใจ
    • ทำร้ายด้วยคำพูด หรือการทำร้ายจิตใจและความรู้สึก เช่น ชอบโกหกหลอกลวง พูดจาดูถูก เหยียดหยาม ตะคอก หรือต่อว่าจนทำให้คุณรู้สึกเศร้า เจ็บปวด รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง อิจฉาริษยาเวลาที่คุณคุยกับคนอื่น ข่มขู่จะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายสัตว์เลี้ยงของคุณหากคุณเลิกกับเขา
    • กีดกันคุณจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เขาจะโกรธหรืออิจฉาเวลาที่คุณใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือเพื่อนโดยไม่มีเขา มักบอกให้คุณยกเลิกนัดกับคนอื่น และโน้มน้าวให้คุณเห็นว่าคนอื่นไม่สำคัญ เขาชอบทำตัวติดกับคุณ และทำให้คุณรู้สึกผิดเวลาทำอะไรโดยไม่มีเขา
    • ไม่ไว้ใจคุณ จึงขอรหัสเข้าโซเชียลมีเดียหรือมือถือของคุณ เพื่อคอยเช็คและสอดแนมตลอดว่าคุณทำอะไร ที่ไหน กับใคร หากคุณต้องการความเป็นส่วนตัว เขาก็จะหาว่าคุณมีคนอื่น หรือมีอะไรปกปิด
    • บีบบังคับเรื่องการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้มีลูก บังคับให้ทำแท้ง บังคับให้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ให้คุณเลิกกินยาคุมกำเนิด ถอดถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือตัดสินใจเรื่องการมีลูกหรือเลี้ยงลูกเองคนเดียว โดยไม่สนความเห็นของคุณ
    • ล่วงละเมิดทางการเงิน ด้วยการก่อกวนเรื่องงาน กีดกัดไม่ให้คุณหางานทำได้ บังคับให้คุณลาออกจากงาน ควบคุมว่าคุณต้องใช้เงินวันละเท่าไหร่ ขู่ว่าจะไม่ช่วยเรื่องเงิน เป็นต้น
    • สอดแนมและตามติดทุกฝีก้าว เช่น ตามคุณไปทุกที่ ส่งของขวัญที่ไม่ต้องการมาให้ ส่องคุณในโซเชียลมีเดีย ค้นทุกเรื่องของคุณในอินเตอร์เน็ต จนคุณรู้สึกหวาดกลัวและหวาดระแวง

    แล้วจะออกจากความสัมพันธ์ที่มี การใช้ความรุนแรง ยังไงดี

    บางครั้งการใช้ความรุนแรงอาจไม่ได้เริ่มให้คุณสังเกตได้ทันทีที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ แต่อาจค่อยเป็นค่อยไปและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับใครที่กำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง หรือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า รู้สึกหวาดกลัวคนรัก หรือรู้สึกว่าถูกคนรักควบคุม คุณควรรีบหาทางออกจากความสัมพันธ์นี้ทันที ด้วยการ

  • ปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากคนที่คุณไว้ใจ เช่น พ่อแม่ คนในครอบครัว เพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา
  • หากไม่พร้อม หรือไม่กล้าคุยกับคนรู้จัก อาจโทรปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์ประชาบดี สายด่วน 1300
  • หากตกอยู่ในอันตรายควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
  • ไม่อยากเจอแบบนี้ ป้องกันตัวเองได้

  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดี คนที่เห็นคุณค่าในตัวเอง มีความมั่นใจ และพอใจในตัวเอง มักจะไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง หรือความรักที่แย่ๆ ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์
  • อย่าให้ความสัมพันธ์กลายเป็นภาระ ลองเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง หากคุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่มีเป็นภาระ กดดัน หรืออีกฝ่ายเรียกร้องจากคุณมากจนเกินไป ควรคุยกับอีกฝ่ายให้เข้าใจ หากยังไม่ดีขึ้น คุณอาจต้องเดินออกจากความสัมพันธ์ครั้งนี้
  • รอบรู้เข้าไว้ คุณควรเรียนรู้และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง และความสัมพันธ์แย่ๆ ให้เยอะๆ เพราะหากตัวเอง พี่น้อง เพื่อนฝูง หรือคนรอบข้างเจอกับความสัมพันธ์แบบนี้ คุณจะได้หาแก้ไขได้
  • Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา