เรียกได้ว่าเป็นโรคที่แทบจะเกิดขึ้นกับทุกคนยามพบเจอเพศตรงข้ามในฝันเลยก็ว่าได้ เช่น การหลงรักความอบอุ่นของพระเอกในซีรีส์เกาหลี หรือปลาบปลื้มนางเอกแสนสวยในละคร แต่ทว่าบางคนนั้นอาจจินตนาการไปไกลเกินกว่าจะควบคุมตนเองให้กลับเข้าสู่โลกความเป็นจริงได้อีกครั้ง วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอพาทุกคนมารู้จัก โรคขี้มโน ให้มากขึ้น เพื่อเร่งทำการรักษาก่อนสุขภาพจิตย่ำแย่ มาฝากกันค่ะ
โรคขี้มโน (Erotomania) คืออะไร
โรคขี้มโน (Erotomania) เป็นภาวะสุขภาพจิตอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับอาการหลงผิด หรืออาการคลั่งไคล้ที่มากจนเกินไป โดยมักจะชอบยึดติด หรือคิดเข้าข้างตนเองเสมอว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นตกหลุมรักตนเอง เสมือนที่ตนเองก็ตกหลุมรักพวกเขาเช่นกัน จึงอาจทำให้บางครั้งตัวผู้ป่วยมีอาการอยากจะใกล้ชิด หรืออยากติดต่อเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งโรคขี้มโนมักจะพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมถึงผู้ป่วยที่กำลังตกอยู่ในภาวะของโรคซึมเศร้า (Depression) และโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) นอกจากนี้ยังมีงานบางวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าอาการหลงผิดดังกล่าว อาจพัฒนากลายเป็นความเครียดที่ทำลายระบบประสาทจนประสาทหลอนรุนแรง ถ้าหากไม่เร่งรักษา หรือไม่ได้รับการบำบัดจิตใจแล้วละก็ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยประสบอยู่กับอาการเหล่านี้เป็นเวลาหลายปีได้เลยทีเดียว
อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น โรคขี้มโนอย่างเต็มตัว
เมื่อถูกความลุ่มหลงครอบงำจิตใจจนไม่สามารถจะดึงตัวเองให้อยู่ในโลกความเป็นจริงได้ อาจทำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เผยอาการ หรือเป็นพฤติกรรมออกมาให้เห็นเด่นชัด ดังต่อไปนี้
- การพยายามติดต่ออีกฝ่ายอย่างไม่ลดละ
- รู้สึกมีอารมณ์อิจฉาเมื่อเห็นผู้อื่นเข้าใกล้ หรือมีการติดต่ออีกฝ่ายได้มากกว่า
- คุกคามผู้นั้นจนถึงขั้นถูกดำเนินการทางกฎหมาย
- อาการนอนไม่หลับ
- อยากมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามได้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น
- มีอารมณ์รุนแรงเมื่อถูกฝ่ายนั้นเกิดพฤติกรรม หรือคำพูดเชิงปฏิเสธ
ดูเผิน ๆ อาจมองว่าไม่มีความอันตรายแต่อย่างใด แต่ในบางกรณีหากกลุ่มบุคคลเหล่านี้คลั่งไคล้คุณมากเกินกว่าการควบคุม อาจทำให้เกิดการคุกคามอย่างหนักได้ เช่น การสะกดรอยตาม การสืบหาประวัติต่าง ๆ จนคุณรู้สึกหมดความเป็นส่วนตัว อีกทั้งหากตัวผู้ป่วยเองได้รับการปฏิเสธอย่างหนัก ก็ยังอาจนำพาให้พวกเข้ารู้สึกเจ็บปวดจนถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองได้ด้วยเช่นกัน
วิธีการรักษาโรคขี้มโน มีทางเลือกอย่างไรบ้าง
การรักษาโรคขี้มโนอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมไปถึงนักบำบัดสุขภาพจิตเข้ามามีส่วนร่วม โดยแพทย์อาจมีการให้ยารับประทานเสริมเพื่อกล่อมประสาท และปรับอารมณ์ให้คงที่ เช่น
- พิโมไซด์ (Pimozide)
- โอแลนซาปีน (Olanzapine)
- ริสเพอริโดน (Risperidone)
- โคลซาปีน (Clozapine)
ตามแต่อาการเบื้องต้นที่ได้รับการวินิจฉัย พร้อมกับการบำบัดด้วยการพูดคุย การสอบถาม และอาจเพิ่มทักษะด้วยการอบรบการใช้ชีวิตในสังคมจากนักบำบัด เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น