โรคไบโพลาร์ หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) นั้นเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เป็นสำคัญ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เวลาเศร้าก็จะเศร้ามากเป็นพิเศษ แต่เมื่อมีความสุขก็จะมีความสุขมากเป็นพิเศษเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว และควรจะต้องไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวิธีการรักษาที่ถูกต้อง โรคไบโพลาร์ นั้นสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะ โรคไบโพลาร์ในวัยรุ่น คุณพ่อคุณมีควรจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะในวัยนี้บางครั้งยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้เท่าที่ควร บทความนี้ Hello คุณหมอ จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน
โรคไบโพลาร์ในวัยรุ่น ข้อเท็จจริงที่ควรรู้
อาจมีหลายคนสงสัยว่า เมื่อเป็นโรคไบโพลาร์แล้ว จะยังสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้หรือไม่ หรือเมื่อเป็นแล้วจะกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่ ลองมาดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ ดังนี้
- หลายคนเชื่อว่า เมื่อเป็นโรคอารมณ์สองขั้วแล้ว จะไม่สามารถมีอาการที่ดีขึ้น หรือใช้ชีวิตแบบปกติได้ ต้องบอกเลยว่า การใช้ชีวิตอยู่กับโรคไบโพลาร์นั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก แต่จริงๆ แล้ว คนที่เป็นไบโพลาร์หลายคน มีอาชีพที่ประสบความสำเร็จ มีครอบครัวที่ดี และมีชีวิตที่มีความสุข ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพวกเขาได้เข้ารับการรักษา พร้อมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะในการเผชิญหน้ากับความเครียดที่ดี รวมถึงได้รับการสนับสนุนที่มั่นคงอีกด้วย
- โรคไบโพลาร์ส่งผลทางอารมณ์เท่านั้น ความจริงแล้ว โรคไบโพลาร์ ยังส่งผลต่อระดับพลังงาน การตัดสิน ความจำ สมาธิ ความอยากอาหาร รูปแบบการนอนหลับ แรงขับเคลื่อนทางเพศ รวมถึงการเห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ความผิดปกติของโรคนี้ ยังเชื่อมโยงกับความวิตกกังวล การใช้สารเสพติด และปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไมเกรน และความดันโลหิตสูง
- นอกเหนือจากการใช้ยา ไม่มีอะไรที่สามารถควบคุมโรคไบโพลาร์ได้ แม้ยาจะเป็นรากฐานในการรักษาโรคไบโพลาร์ แต่กลยุทธ์การบำบัดและการช่วยเหลือตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนั้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารให้เหมาะสม พยายามตรวจสอบอารมณ์ของตนเองและรักษาความเครียดให้น้อยลง ก็สามารถควบคุมโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน
สัญญาณเตือนของโรคไบโพลาร์ในวัยรุ่น
โรคไบโพลาร์ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ในสหรัฐอเมริกา โรคไบโพลาร์ โดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นกับวัยรุ่นตอนปลาย และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ประมาณ 2.8 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี แต่ในการวินิจฉัยในวัยรุ่นนั้น แพทย์จะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจว่าอารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากแค่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่นเพียงเท่านั้น แต่สัญญาณที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- ภาวะอารมณ์ไม่คงที่
- มีความสุขมากจนเกินไป หรือทำอะไรที่ไม่ธรรมดา ซึ่งคนที่มีอายุเท่ากันมักไม่ทำ
- มีปัญหาในเรื่องของการนอนหลับ หรืออาจจะไม่นอนเลย
- ไม่รู้สึกเหนื่อย
- มีปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- พูดเร็วมาก หรือพยายามพูดหลายๆ อย่างพร้อมกัน
- พูดคุยหรือคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือหมกมุ่นกับเรื่องเหล่านี้บ่อยขึ้น
- หุนหันพลันแล่น หรือมักจะมีพฤติกรรมที่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ
- รู้สึกว่าตัวเองสำคัญมากเกินความเป็นจริง
- รู้สึกเศร้า หรือหดหู่
- ร้องไห้เป็นประจำ
- รู้สึกเหงา หรือรู้สึกเหมือนตัวคนเดียว
- บ่นเกี่ยวกับความเจ็บปวด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
- รู้สึกผิด
- รู้สึกไร้ค่า
- มีความวิตกกังวล
- รู้สึกโกรธ หรือหงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมที่ทำเป็นปกติ เช่น อาจมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่นกินมากขึ้นหรือน้อยลง
- มีพลังงานน้อยมาก แม้ว่าจะนอนหลับอย่างเพียงพอ
- สนใจกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น
- สนใจเรื่องเกี่ยวกับความตาย หรือมีความคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม
การรับมือกับโรคไบโพลาร์ที่เกิดในวัยรุ่น
โดยปกติการวินิจฉัยโรคไบโพลาร์ในวัยรุ่น จะมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่เหมือนกับผู้ใหญ่ แต่อาการที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นนั้น มักจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน และอาจไม่เหมาะกับประเภทการวินิจฉัย นอกจากนี้วัยรุ่นที่มีอารมณ์แปรปรวนก็มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือปัญหาด้านพฤติกรรม ดังนั้นการเข้ารับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ที่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งการรักษาโรคไบโพลาร์ จิตแพทย์มักจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป แล้วแต่อาการที่เกิดขึ้นและอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยา
สำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคไบโพลาร์นั้น ยังต้องมีการเผชิญหน้าในครอบครัว โรงเรียน รวมถึงในสังคม ซึ่งการควบคุมอารมณ์เมื่อต้องเผชิญหน้า ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากลูกของคุณอยู่ในช่วงวัยรุ่น และถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ การให้พวกเขาทานยาตามกำหนด พยายามสังเกตอาการหรือความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอารมณ์ พยายามพาลูกของคุณเข้าร่วมการบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการบำบัดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้
นอกจากการรักษาด้วยยา และการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบางอย่าง เช่น การลดความเครียด การรับประทานอาหารที่ดี การนอนหลับที่เพียงพอ และออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็สามารถช่วยเหล่าวัยรุ่นที่เป็นโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด