backup og meta

ฟังเพลงตอนออกกำลังกาย กิจกรรมห้ามพลาดเพราะประโยชน์ดีๆ เพียบ

ฟังเพลงตอนออกกำลังกาย กิจกรรมห้ามพลาดเพราะประโยชน์ดีๆ เพียบ

การเล่นกีฬาและออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพกายใจแข็งแรง โดยทั่วไปแพทย์แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 10-30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน แต่สำหรับบางคนการออกกำลังกายให้ได้ตามเป้ากลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจมี ความขี้เกียจ หรือความเบื่อหน่าย เข้ามาเป็นอุปสรรคที่ทำให้คุณหมดไฟ หรือหมดสนุกกับการออกกำลังกาย แต่ปัญหานี้จะหมดไป หากคุณรู้จักกับตัวช่วยดีๆ อย่างการ ฟังเพลงตอนออกกำลังกาย ที่นอกจากจะช่วยแก้เบื่อได้แล้ว ยังช่วยให้คุณออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมายเลยทีเดียว

ข้อดีของการฟังเพลงตอนออกกำลังกาย

1. ช่วยให้คุณออกกำลังกายได้หนักขึ้น

หากออกกำลังกายแล้วรู้สึกเบื่อ หรือออกกำลังกายได้แป๊บเดียวก็เหนื่อย ให้คุณลองสร้างเพลย์ลิสต์เพลงสำหรับออกกำลังกายเอาไว้และเปิดฟังตอนออกกำลังกายครั้งต่อไปดู เพราะมีผลการวิจัยระบุว่า ผู้ที่ฟังเพลงตอนออกกำลังกายสามารถออกกำลังกายได้หนักขึ้น อีกทั้งการฟังเพลงยังช่วยให้สามารถออกกำลังกายซ้ำๆ หรือออกกำลังกายประเภทฝึกความอึดหรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้หนักและนานขึ้น โดยที่คุณรู้สึกเหนื่อยช้าลงด้วย

2. ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า อาสาสมัครที่ฟังเพลงตอนออกกำลังกายมีระดับของเซโรโทนิน  (Serotonin) หรือสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ “ฮอร์โมนรู้สึกดี” สูงขึ้น จึงทำให้ออกกำลังกายแล้วรู้สึกอารมณ์ดี

3. ทำให้จิตใจสงบ

เพลงที่มีจังหวะ หรือช่วงความเร็วคงที่ อยู่ที่ 80-115 ครั้งต่อนาที (BPM) เช่น เพลงบัลลาด เพลงคลาสิก สามารถช่วยให้หัวใจคุณเต้นช้าลง และช่วยลดความวิตกกังวลก่อนลงสนาม ออกกำลังกายแบบความเข้มข้นสูง หรือเล่นกีฬาต่างๆ ได้ ไม่ใช่แค่จังหวะดนตรี แต่เนื้อเพลงและความรู้สึกที่คุณมีต่อเพลงนั้นๆ ก็สามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายและรู้สึกสงบได้เช่นกัน

4. ช่วยให้ร่างกายทำงานประสานกันมากขึ้น

เสียงเพลงไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายเฉพาะตอนที่คุณเต้นเท่านั้น ไม่ว่าจะออกกำลังกายประเภทใด หากคุณฟังเพลงไปด้วย จะช่วยให้ร่างกายของคุณเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นจังหวะ และทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การฟังเพลงตอนออกกำลังกายช่วยเพิ่มคลื่นไฟฟ้าในสมองส่วนที่ควบคุมให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างสัมพันธ์กัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเสียงเพลงถึงช่วยให้คุณทำท่าในคลาสแอโรบิก หรือ HIIT ตามผู้ฝึกสอนได้ง่ายขึ้น

5. ฟังเพลงตอนออกกำลังกาย… เวิร์กเอาท์ได้สนุกกว่า

หากใครเคยเข้าคลาสออกกำลังกายที่มีเพลงประกอบเร้าใจ เช่น คลาสปั่นจักรยาน ก็คงจะทราบดีว่า การฟังเพลงสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของคุณจากการออกกำลังกายสุดโหด ช่วยให้คุณออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น และสนุกขึ้นแค่ไหน จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 34 คนพบว่า การฟังเพลงตอนออกกำลังกายช่วยให้คุณออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสนุกสนานกว่าการดูคลิปแบบไม่ฟังเสียงเสียอีก

6. ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บ

งานศึกษาวิจัยในอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็นนักวิ่งอาชีพจำนวน 26 คนพบว่า การฟังเพลงที่มีจังหวะในช่วง 130-200 ครั้งต่อนาที (BPM) จะทำให้นักวิ่งเร่งและชะลอฝีเท้าไปตามจังหวะเพลง แต่หากเลือกเพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้นเป็นช่วง 160-180 ครั้งต่อนาที (BPM) การวิ่งแต่ละก้าวจะสั้นลง จึงช่วยลดแรงกด และแรงกระแทก รวมไปถึงช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

7. ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

งานวิจัยในอาสาสมัคร 60 คนพบว่า การฟังเพลงช้าหลังจากออกกำลังกายเสร็จ สามารถช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจ และระดับความดันโลหิตลดลง ทั้งยังทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วกว่าการฟังเพลงเร็ว หรือการนั่งพักในที่เงียบๆ นอกจากนี้การเลือกเพลงที่เหมาะสมยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และลดผลกระทบจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

10 Ways Music Can Make or Break Your Workout

https://www.healthline.com/health/music-can-make-or-break-your-workout#9. Accessed April 2, 2019

Can Listening to Music Improve Your Workout?

https://www.center4research.org/can-listening-music-improve-workout/. Accessed April 2, 2019

Benefits of Listening to Music While Exercising

https://www.askthetrainer.com/benefits-of-listening-to-music-while-exercising/. Accessed April 2, 2019

The psychological functions of music listening

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3741536/. Accessed April 2, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กินก่อนหรือหลังออกกำลังกาย กินเวลาไหนได้ประโยชน์กว่ากัน?

ออกกำลังกายแค่วันหยุด จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพหรือเปล่า?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา