ฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชาย เป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมนสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด อาการบาดเจ็บ การเจ็บป่วยกะทันหัน ภาวะทุพโภชนาการหรือการกินอาหารที่ไม่ดีพอ การขาดการออกกำลัง และปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลทำให้แรงขับทางเพศต่ำ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ หน้าอกใหญ่ อย่างไรก็ตาม อาการของความไม่สมดุลของฮอร์โมนอาจไม่ชัดเจน จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย
ฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชาย คืออะไร
ฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชาย คือ ความไม่สมดุลของฮอร์โมนสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายอาจเกิดจากความเครียด อาการบาดเจ็บ การเจ็บป่วยกะทันหัน ภาวะทุพโภชนาการหรือการกินอาหารที่ไม่ดีพอ การขาดการออกกำลัง และปัจจัยอื่น ๆ โดยต่อมต่าง ๆ ในระบบต่อมไร้ท่อทำงานเกี่ยวเนื่องกัน สร้างความสมดุลให้กันและกันอย่างซับซ้อน และอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาการของความไม่สมดุลของฮอร์โมนอาจไม่ชัดเจน ดังนั้น การตรวจระดับฮอร์โมนด้วยการตรวจเลือด ตรวจน้ำลาย ตรวจซีรั่มของเลือด หรือตรวจปัสสาวะ จึงอาจช่วยทำให้ทราบถึงฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชายในผู้ชายได้
ฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชายส่งผลอย่างไร
เทสโทสเตอโรน (Testosterone) โปรแลคติน (Prolactin) และเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนส่วนหนึ่งในจำนวนฮอร์โมนมากมายหลายชนิดที่สร้างขึ้นในร่างกายของผู้ชาย ในกระบวนฮอร์โมนทั้งหมดนี้ เทสโทสเตอโรนส่งผลต่อลักษณะของความเป็นชาย เช่น การสร้างอสุจิ การสร้างขนใบหน้าและขนตามร่างกาย มวลกล้ามเนื้อและกระดูก ภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำอาจเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ชาย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่เกิดกับฮอร์โมนของผู้ชาย ฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชายอาจส่งผลต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ดังนี้
-
แรงขับทางเพศลดลง
เทสโทสเตอโรนส่งผลต่อสุขภาพทางเพศของผู้ชาย เมื่อฮอร์โมนไม่สมดุลในผู้ชายอาจทำให้เทสโทสเตอโรนต่ำจนส่งผลต่อแรงขับทางเพศของผู้ชายที่ลดลง แต่ในบางกรณี ปัญหาของแรงขับทางเพศที่ลดลง อาจไม่ได้เป็นผลมาจากระดับเทสโทสเตอโรนต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ระดับของโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่รับผิดชอบในการสร้างน้ำนมต่ำ ก็อาจเป็นต้นเหตุของปัญหานี้ได้เช่นกัน
-
การไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ
การไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ คือ การที่ผู้ชายไม่สามารถรักษาการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณของระดับเทสโทสเตอโรนต่ำ แต่ก็อาจเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้ โดยฮอร์โมนโปรแลคตินสูง เทสโทสเตอโรนต่ำ และมีความไม่สมดุลของไทรอยด์ร่วมด้วย
-
หน้าอกใหญ่
ในร่างกายของผู้ชายมีฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน โดยผู้ชายต้องการเอสโตรเจนในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งผู้ชายมักจะไม่ประสบปัญหาเอสโตรเจนต่ำ เว้นแต่จะกินยาที่บล็อกเอสโตรเจน หรือมีปัญหาที่ต่อมใต้สมอง เอสโตรเจนรับผิดชอบต่อลักษณะของความเป็นผู้หญิง เช่น หน้าอกโต ดังนั้น ความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของเอสโตรเจน และการลดลงของเทสโทสเตอโรน จึงอาจเป็นสาเหตุของหน้าอกที่ใหญ่ขึ้นในผู้ชาย หรือที่เรียกว่า ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia)
-
มีน้ำนมหรือของเหลวจากหัวนม
ภาวะน้ำนมไหล หรือกาแลกโตเรีย (Galactorrhea) มักเกิดในผู้หญิง ส่งผลให้ผู้หญิงมีน้ำนมทั้งที่ไม่ได้มาจากให้นมบุตร แต่ภาวะนี้ก็อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายที่มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลได้เช่นกัน โดยปกติแล้ว ภาวะนี้อาจเกิดจากการมีระดับโปรแลคตินในเลือดสูง และเทสโทสเตอโรนต่ำ โดยโปรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยต่อมใต้สมองซึ่งมีทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
-
ภาวะมีบุตรยาก
ผู้ชายมีภาวะมีบุตรยากอาจเกิดจากการที่ผู้ชายไม่สามารถมีบุตรได้ หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันสม่ำเสมอ เป็นเวลาราว 1 ปี ภาวะนี้อาจเกิดจากจำนวนอสุจิน้อยหรืออสุจิไม่แข็งแรง ภาวะมีบุตรยากอาจเป็นอาการหนึ่งของความไม่สมดุลของฮอร์โมนในผู้ชาย โดยมีฮอร์โมนหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอสุจิ