backup og meta

กลุ่มอาการเอดี สาเหตุ อาการ และการรักษา

กลุ่มอาการเอดี สาเหตุ อาการ และการรักษา

กลุ่มอาการเอดี (Adie syndrome หรือ Holmes-Adie syndrome) คือ ความผิดปกติของระบบประสาทที่หายาก ส่งผลให้รูม่านตาขยายออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ดวงตา การติดเชื้อ การผ่าตัด โรคนี้ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่อาจต้องใช้ยาหยอดตาและสวมแว่นตาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ และทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

คำจำกัดความ

กลุ่มอาการเอดี คืออะไร

กลุ่มอาการเอดี คือ ความผิดปกติของระบบประสาทที่พบได้ยาก มีผลกระทบที่รูม่านตาในตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีรูม่านตาที่ขยายใหญ่กว่าปกติ ร่วมกับปฏิกิริยาตอบสนองของเอ็นกล้ามเนื้อ (Deep tendon reflexes) น้อยกว่าปกติหรือไม่มีปฏิกิริยาเลย

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการเอดีที่แน่ชัด แต่การผ่าตัด การติดเชื้อ ภาวะบาดเจ็บ (Trauma) หรือการขาดเลือดเฉพาะที่ก็สามารถส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการเอดีได้เช่นกัน ในกรณีหายาก อาจพบภาวะการขัดขวางหรือรบกวนการหลั่งเหงื่อเฉพาะที่ร่วมด้วย

กลุ่มอาการเอดีพบได้บ่อยแค่ไหน

กลุ่มอาการเอดีส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยปกติแล้วจะเกิดในผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25-45 ปี นอกจากจะเป็นที่รู้จักในชื่อ “กลุ่มอาการเอดี’ แล้ว ยังรู้จักกันในชื่อต่อไปนี้ด้วย

  • รูม่านตาเอดิอี
  • กลุ่มอาการเอดิอี
  • เอดิอี โทนิค ซินโดรม
  • กลุ่มอาการ โฮล์ม-เอดิอี
  • พาพิโลโทนิค ซุยโดเทมส์
  • โทนิล พิวเพิล ซินโดรม
  • อาการทั่วไปของกลุ่มอาการเอดิอี

โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของกลุ่มอาการเอดี

โดยปกติแล้ว รูม่านตาของคนเราจะหดตัวเล็กลง เมื่อต้องโฟกัสแสงจ้าหรือเมื่อโฟกัสไปบนวัตถุใกล้ และรูม่านตาจะเบิกกว้าง เมื่ออยู่ในแสงสลัว ในที่มืด ต้องโฟกัสวัตถุที่ไกลออกไป หรือเมื่อบุคคลนั้นรู้สึกตื่นเต้น

ผู้ป่วยกลุ่มอาการเอดีส่วนใหญ่ รูม่านตาจะเบิกกว้างกว่าปกติตลอดเวลา ไม่ค่อยหดตัวหรือไม่ตอบสนองต่อแสงที่ผ่านเข้าตา เมื่อต้องโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกลๆ้ รูม่านตาของผู้ป่วยกลุ่มอาการเอดีนี้จะค่อยๆ หดตัวอย่างช้าๆ และเมื่อรูม่านตาหดตัวแล้ว ก็จะหดตัวอยู่นานกว่าปกติ บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นสิบๆ นาทีกว่ารูม่านตาจะกลับไปเบิกกว้างแบบเดิมอีกครั้ง

อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการเอดี ได้แก่

นอกจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มอาการเอดี จะมีอาการปฏิกิริยาตอบสนองของเอ็นกล้ามเนื้อ (Deep tendon reflexes) น้อยมากหรือไม่มีปฏิกิริยาเลยก็ได้

โดยปกติแล้ว กลุ่มอาการเอดีจะส่งผลกระทบต่อรูม่านตาข้างเดียว และมักไม่ก่อให้เกิดความบกพร่องรุนแรงใดๆ ผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์บางชิ้นระบุว่า ผู้ป่วยในกลุ่มอาการเอดีอาจพบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น ระบบการไหลเวียนโลหิต

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการตามรายละเอียดด้านบนหรือมีคำถาม โปรดปรึกษาคุณหมอ

ร่างกายคนแต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของกลุ่มอาการเอดี

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการเอดีส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า กลุ่มอาการเอดีส่วนมากเป็นผลมาจากการอักเสบ หรือซิลิแอรีแกงเกลี่ยน (ciliary ganglion) ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ประสาทในกระบอกตาถูกทำลาย หรือเส้นประสาทหลังปมประสาทถูกทำลาย

ซิลิแอรีแกงเกลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic nervous system) ซึ่งจัดเป็นระบบประสาทอัตโนมัติชนิดหนึ่ง ซิลิแอรีแกงเกลี่ยนช่วยควบคุมการตอบสนองของดวงตาต่อแสง หรือสิ่งเร้า เช่น ให้รูม่านตาหดหรือขยายตัวเมื่อเจอแสง

ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาซิลิแอรีแกงเกลี่ยนหรือเส้นประสาทหลังปมประสาทถูกทำลายจะเป็นผลมาจากการติดเชื้อ แต่ก็สามารถเกิดจากโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง หรือที่เรียกว่าโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune Diseases) รวมไปถึงเนื้องอก อาการบาดเจ็บ หรือการผ่าตัดได้เช่นกัน

ส่วนการสูญเสียปฏิกิริยาตอบสนองของเอ็นกล้ามเนื้อในผู้ป่วยกลุ่มอาการเอดีนั้น เชื่อว่า มีสาเหตุมาจากปมประสาทรากหลังของไขสันหลังถูกทำลาย หรือในบางกรณีที่พบได้ยาก กลุ่มอาการเอดีอาจเกิดจากกรรมพันธ์ุ และถือเป็นโรคที่เกิดจากยีนเด่น คือผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสถ่ายทอดสู่ลูกได้ถึงร้อยละ 50

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยกลุ่มอาการเอดี

การวินิจฉัยกลุ่มอาการเอดีสามารถทำได้โดยการตรวจประเมินที่สถานพยาบาล และประวัติของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจตาแบบครบวงจรโดยจักษุแพทย์

จักษุแพทย์จะใช้ยาหยอดตาพิโลคาร์ปีนหยดลงไปที่ตาของผู้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อทดสอบการตอบสนองของรูม่านตา ยานี้จะทำให้รูม่านตาหดตัวเล็กลง หากผู้ที่เข้ารับการตรวจเป็นกลุ่มอาการเอดี

รูม่านตาข้างที่ได้รับผลกระทบจากโรคจะไม่หดตัวเพื่อตอบสนองต่อแสง แต่จะหดตัวตอบสนองต่อยาพิโลคาร์ปีนแบบ 0.05-0.1% ซึ่งโดยปกติแล้ว รูม่านตาที่ไม่ได้เป็นโรคกลุ่มอาการเอดีจะไม่ตอบสนองต่อยารูปแบบนี้

ในบางกรณี จักษุแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการเปรียบเทียบขนาดของรูม่านตาข้างที่สงสัยว่าเป็นโรคกับข้างที่ปกติดีในแสงสว่างและความมืด รวมถึงสังเกตการตอบสนองของรูม่านตาในขณะที่โฟกัสวัตถุที่อยู่ในระยะประชิด

นอกจากนี้ จักษุแพทย์อาจต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่าเครื่องสลิทแลมป์ (Slit-Lamp) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง เครื่องมือนี้จะช่วยให้จักษุแพทย์ตรวจสอบได้ว่าลูกตามีรูปทรงผิดปกติหรือไม่ เมื่อตรวจด้วยเครื่องนี้จะพบว่า ลักษณะลูกตาของผู้ป่วยกลุ่มอาการเออีดีส่วนใหญ่มีลักษณะค่อนไปทางทรงรีแทนที่จะเป็นทรงกลม และบางกรณีอาจพบว่า ม่านตาเคลื่อนไหวเป็นจังหวะคล้ายตัวหนอน

การรักษากลุ่มอาการเอดี

ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มอาการเอดีไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะ จักษุแพทย์อาจสั่งให้คุณตัดแว่นสายตาเพื่อช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ส่วนคนที่ตาไวต่อแสงก็อาจต้องใส่แว่นกันแดดเมื่อต้องออกแดดหรืออยู่กลางแจ้ง

การรักษาด้วยยาหยอดตายาพิโลคาร์ปีนอาจช่วยให้ปัญหาในการรับรู้ความลึกหรือระยะใกล้ไกลดีขึ้นได้ แต่การสูญเสียปฏิกิริยาตอบสนองของเอ็นกล้ามเนื้อนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อกลุ่มอาการเอดีอี

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการเอดี จึงยังไม่มีวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันกลุ่มอาการเอดี โปรดปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Adie Syndrome. https://rarediseases.org/rare-diseases/adie-syndrome/. Accessed October 25, 2017

Adie Syndrome. https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/5749/adie-syndrome. Accessed October 25, 2017

Holmes-Adie Syndrome. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/holmes-adie-syndrome. Accessed 30 May, 2022

What Is Adie’s Pupil? https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-adies-pupil. Accessed 30 May, 2022

A Rare Case in the Emergency Department: Holmes-Adie Syndrome. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2452247316600092. Accessed 30 May, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2022

เขียนโดย pimruethai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิตามินบำรุงสายตา กินอย่างไรให้ได้ประโยชน์

สายตาสั้น ในเด็ก รู้หรือไม่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา