backup og meta

ตาสองสี (Heterochromia)

ตาสองสี (Heterochromia)

หากลองสังเกตตนเองแล้วพบว่าสีตาเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบดวงตาข้างใดข้างหนึ่งเปลี่ยนสี หรือครึ่งซีกของม่านตาเปลี่ยนสีไป โปรดเข้ารับการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะ ตาสองสี (Heterochromia) ได้

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

ตาสองสี (Heterochromia) คืออะไร

ภาวะตาสองสี (Heterochromia) เป็นภาวะของม่านตาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม หรือถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาจากพันธุกรรมในครอบครัว ซึ่งเป็นภาวะที่สีของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมีสีแตกต่างไปจากเดิม เช่น สีเทา สีฟ้า สีน้ำตาล เป็นต้น ตามความเข้มข้นของระดับเม็ดสีเมลานินในแต่ละบุคคล โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • Complete heterochromia เป็นประเภทที่มีสีของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งเปลี่ยนไปแบบสมบูรณ์ หรือเต็มดวง เช่น ตาข้างหนึ่งสีน้ำตาล อีกข้างหนึ่งสีฟ้า
  • Segmental heterochromia คือ สีของดวงตาเปลี่ยนไปแบบแบ่งส่วน โดยดวงตาข้างนั้นจะมีการแบ่งสีของม่านตาเป็น 2 ส่วน และจะมีสีที่แตกต่างกัน เช่น ตาข้างซ้ายสีน้ำตาล ตาข้างขวาสีฟ้า และแบ่งครึ่งอีกซีกด้านในเป็นสีเขียวอีกครึ่งหนึ่ง
  • Central heterochromia เป็นอีกประเภทของภาวะดวงตาเปลี่ยนสี ที่จะมีการเปลี่ยนสีเพียงแค่รอบนอกของม่านตา เช่น ตรงกลางภายในดวงตาเป็นสีดำสนิทแต่รอบนอกนั้นเป็นสีเทา หรือสีอื่น ๆ

ภาวะ ตาสองสี สามารถพบบ่อยได้เพียงใด

จริง ๆ แล้วภาวะดังกล่าวนี้ อาจเป็นไปได้ยากที่จะพบเจอในบุคคลทั่วไป แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบกับภาวะดวงตาสองสีนั้น มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคต้อหิน ได้อีกด้วย

อาการ

อาการของ ภาวะตาสองสี

ส่วนใหญ่ภาวะตาสองสีมักไม่ค่อยมีอาการใด ๆ ให้พบเห็นกันมากนัก นอกจากสีของดวงตาที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แต่หากบุคคลใดที่มีอาการแทรกซ้อนอย่างอาการเจ็บปวดดวงตา การมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เท่าทัน ก่อนเกิดความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็นได้

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิด ภาวะตาสองสี

หากมีภาวะตาสองสีจากพันธุกรรม อาจไม่จำเป็นต้องมีข้อกังวลใด ๆ มากนักเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ที่ตามมา แต่สำหรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีดวงตาอย่างกะทันหันโดยที่ไม่ทันตั้งตัว นั่นอาจเป็นไปได้ว่าอาการดังกล่าวมาจากสาเหตุของปัญหาทางสุขภาพ ดังต่อไปนี้

  • ภาวะทางพันธุกรรมไพบอลดิซึม (Piebaldism) ถึงจะเป็นภาวะที่ไม่อันตรายมากนัก แต่อาจทำให้เม็ดสีนั้นลดลงจนทำให้ผิวหนัง สีผม รวมถึงดวงตามีสี่ที่อ่อนลงกว่าเดิม
  • กลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก (Waardenburg syndrome) กลุ่มของโรคพันธุกรรมที่ส่งผลให้สีของดวงตา ผิวหนัง และสีผมที่เปลี่ยนไป และนำพาไปสู่การสูยเสียทางการได้ยินได้อีกด้วย
  • กลุ่มอาการสเตอร์จ-เวเบอร์ (SturgeWeber syndrome) เป็นภาวะความผิดปกติของสมอง ผิวหนัง และดวงตาที่เกิดจากการพัฒนาของหลอดเลือดบางชนิด
  • โรคทูเบอรัส สเคลอโรซิส (Tuberous sclerosis) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการก่อตัวของเนื้องอกภายใน เช่น เนื้องอกในสมอง ผิวหนัง ไต ปอด และดวงตา

นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ อีกที่อาจทำให้ดวงตามีสีที่เปลี่ยนไปได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยตั้งแต่เบื้องต้นก่อนเกิดปัญหาอื่นลุกลาม ควรขอเข้ารับการตรวจสอบจากคุณหมอเฉพาะทางอย่างละเอียดอีกครั้ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยของการเกิด ภาวะตาสองสี

  • กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) ซึ่งเกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทที่เชื่อมโยงไปยังสมอง และดวงตา จนส่งผลต่อใบหน้าเพียงด้านใดด้านหนึ่งมีลักษณะของรูม่านตาที่เล็กลงอย่างถาวร
  • ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีได้เนื่องจากมีการสะสมของของเหลวในตา หรือความดันในตา
  • มะเร็งตา (Eye cancer) เพราะเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในดวงตาอาจทำให้เม็ดสีเมลานินนั้นมีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลให้ดวงตา ผิวหนัง เส้นผมเริ่มมีสีเปลี่ยนจากเดิม และอาจทำให้เริ่มมีการมองเห็นไม่ชัดอย่างกะทันหันอีกด้วย
  • ผลกระทบจากยาบางชนิดที่ใช้รักษาปัญหาสุขภาพตา เนื่องจากเป็นยาที่จำเป็นต้องใช้รักษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตาโดยตรง จึงทำให้บางครั้งอาจได้รับผลข้างเคียงจนก่อให้เกิดสีของดวงตาที่เปลี่ยนไป เช่น ยาที่ใช้รักษาต้อหินในกลุ่ม Prostamide
  • การบาดเจ็บที่ดวงตา ที่อาจมาในรูปแบบอุบัติเหตุ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ จนทำให้ดวงตาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะตาสองสี

หากสังเกตว่าสีของดวงตามีการเปลี่ยนแปลง พร้อมมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนร่วม ควรเข้ารับการตรวจ ซึ่งคุณหมออาจมีการตรวจเลือด และทดสอบโครโมโซมทางพันธุกรรม เพื่อหาสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดภาวะตาสองสี

การรักษาภาวะตาสองสี

หากภาวะตาสองสีที่มาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใด ๆ เลยก็ว่าได้ หรือคุณหมออาจแนะว่าให้เปลี่ยนเป็นใส่คอนแทคเลนส์ที่มีความปลอดภัยได้ในกรณีที่มีต้องการให้สีดวงตาทั้งสองข้างมีความคล้ายกัน

แต่หากเป็นกรณีที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย จนทำให้สีของดวงตาเปลี่ยนไป อาจต้องได้รับการวินิจฉัยอีกครั้ง เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ปัญหาทั้งด้านสุขภาพของดวงตา และสุขภาพร่างกาย

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาภาวะตาสองสี

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ป้องกันตนเองจากการเกิดภาวะตาสองสีนั้นอาจแตกต่างกันไปตามสภาวะของโรคที่เกิดขึ้นในแต่บุคคล หากมีข้อสงสัยใดเพิ่มเติมโปรดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง หรือจักษุแพทย์อย่างละเอียดอีกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

An Overview of Heterochromia  https://www.verywellhealth.com/heterochromia-overview-4177928 Accessed May 31, 2023.

Why are my eyes different colors? https://www.medicalnewstoday.com/articles/319389 Accessed May 31, 2023.

Heterochromia https://www.webmd.com/eye-health/heterochromia-iridis#1 Accessed May 31, 2023.

Heterochromia https://www.medicinenet.com/heterochromia_iridis/article.htm Accessed May 31, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแลดวงตาให้แข็งแรง ด้วยวิธีแสนง่ายที่คุณเองก็ทำตามได้

สัญญาณเตือนของดวงตา ที่เป็นสัญญาณของการเกิด โรคต้อกระจก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา