คำจำกัดความ
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันคืออะไร
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน (Acute conjunctivitis) หรือ “โรคตาแดง (red eye)” เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ตาแดงอาจมีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ การบาดเจ็บตา หรือ
การใช้ยาหยอดตาบางประเภท ในบทความนี้จะเน้นถึง โรคตาแดงที่เกิดจากไวรัส (adenovirus) ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อสู่ผู้ใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัวสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมากจะหายได้เองซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามในคนไข้บางรายไวรัสกระจายตัวจากเยื่อบุตา เข้าไปที่กระจกตาทำให้ การมองเห็นลดลง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ ระคายเคืองตามากขึ้น แม้ว่าอาการตาแดงและมีขี้ตาลดลงก็ตาม อย่างไรก็ตามโรคไวรัสเยื่อบุตาอักเสบสามารถรักษาให้หายขาดได้ และไม่พบว่ามีการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันพบได้บ่อยแค่ไหน
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสพบได้บ่อย ในหน้าระบาดเช่นในฤดูฝน
เยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย พบในเด็กได้บ่อยมากกว่าในผู้ใหญ่
เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ง่าย และเกิดร่วมกับระบบอื่นในร่างกาย เช่นภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือได้รับตัวก่อภูมิแพ้ เช่นฝุ่น เกสรดอกไม้ ดอกหญ้าบางชนิดที่ผู้ป่วยแพ้
โปรดปรึกษากับหมอของคุณ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันมีอาการอย่างไร
อาการที่พบเห็นบ่อยของเยื่อตาอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่
- ตาแดง
- เปลือกตาแดงบวม
- ระคายเคือง
- แสบร้อน
- น้ำตาไหล
- มีขี้ตามากเป็น มีลักษณะเป็นมูก โดยเฉพาะตอนตื่นนอนตอนเช้าในไวรัสหรือภูมิแพ้ (ถ้าลักษณะขี้ตาเหลืองเขียวจะเกิดจากแบคทีเรีย)
- มีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน หรืออาจเจ็บบริเวณหน้าหู เนื่องจากอาจมีภาวะต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตในคนไข้บางรายที่ติดเชื้อไวรัส
- ขนตาตกสะเก็ด
- รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา
อาจมีอาการบางประเภทที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ข้างบน ถ้าคุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาจักษุแพทย์
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบหมอ
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการอะไรก็ตามที่เหมือนอาการตามด้านบน หรือ หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษานัดตรวจตากับจักษุแพทย์
สาเหตุ
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากอะไร
เยื่อบุตาอักเสบเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด โดยแบคทีเรียที่พบบ่อยในการก่อโรคคือ สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เสตร็ปโทโคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) แฮโมฟิลัส เอสพี (Haemophilus sp) คลามีเดีย (Chlamydia trachomatis เชื้อที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตา) และไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อหนองใน ซึ่งเป็นผลมาจากการติอต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือทารกที่ผ่านการคลอดโดยวิธีธรรมชาติผ่านช่องคลอดที่มารดามีเชื้อหนองใน ก็จะทำให้ทารกแรกคลอดเกิดเยื่อบุตาอักเสบ (neonatal conjunctivitis) นอกจากเชื้อ Neisseris gonorrhoeae แล้วเชื้อ chlamydia ก็เป็นสาเหตุร่วมได้เช่นกันร้อยละ20-40
ปัจจัยเสี่ยง
อะไรที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน
มีปัจจัยเสี่ยงมากมายของการเป็นเยื่อตาอักเสบ ได้แก่
- สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
- การติดเชื้อที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง
- สภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น และสารก่อภูมิแพ้
- การว่ายน้ำในสระที่มีระบบป้องการการติดเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน
- ภูมิแพ้ผิวหนัง
- การใช้คอนแทคเลนส์
- การใส่ตาเทียม (Ocular prosthesis)
- การระคายเคืองต่อฝุ่นในระบบอุตสาหกรรมเครื่องจักร
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่สามารถทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ใดๆ กรุณาปรึกษากับหมอของคุณทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อเติม
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันวินิจฉัยได้อย่างไร
โดยมากแพทย์จะวินิจฉัยจาก ประวัติและอาการที่ซักถามจะผู้ป่วย ร่วมกับอาการแสดงที่ได้จากการตรวจตาผ่านกล้อง slit-lamp biomicroscopy ก็จะสามารถแยกได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เพราะฉะนั้นการน้ำขี้ตาไปป้ายลงแผ่น slideเพื่อวิเคราะห์ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ และย้อมสีด้วยแกรม (Gram) เพื่อระบุชนิดแบคทีเรีย และ/หรือย้อมสีด้วยเกียมซา (Giemsa) เพื่อระบุลักษณะของเซลล์เยื่อบุผิวของไซโตพลาสซึมของเม็ดเลือดขาว ในกรณีที่แทพย์คากว่าเกิดจากเชื้อคลามีเดีย หรือเพาะเชื้อเพื่อแยกว่าเป็นแบคทีเรียชนิดใดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ยกเว้นในบางกรณีเช่น
-
- ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นในทารกแรกเกิด
- ในรายที่มีขี้ตามีสีขุ่นหนองปริมาณมาก ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อหนองใน เพราะเชื้อมีความรุนแรง สามารถทำให้กระจกตาทะลุได้ ซึ่งเป็นผลให้สูญเสียการมองเห็น
เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันรักษาอย่างไร
- ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาหยอดตาได้ เช่นยาหยอดตาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolone) หรือ ไตรเมโทพริม (trimethoprim)/โพลิมิกซิน บี (polymyxin B) แต่ในเชื้อหนองในและคลามีเดียต้องมียารัปประทานหรือยาฉีดเข้าเส้นเลือดร่วมด้วย เพราะเชื้ออยู่ในร่างกายผู้ป่วย ไม่ได้อยู่เฉพาะที่ดวงตา ในกรณีเชื้อหนองในจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เซฟไตรอะโซน (ceftriaxone) ในกรณีติดเชื้อคลามีเดียจะใช้ ยากินอะซิโตรไมซิน (azithromycin) 1 กรัม หรือ ด็อกซิไซคลิน (doxycycline) 100 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 7 วัน
- ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนมากรักษาตามอาการ เช่นน้ำตาเทียม ยาแก้ระคายเคือง ยกเว้นกรณีที่มีไวรัสกระจายมาที่กระจกตาทำให้ตามัวลง การหยอดยาประเภทสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้เป็นโรคแพร่สู่คนอื่นได้ การล้างมือให้สะอาด และหลี่กเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
- ในกรณีที่เกืดจากภูมิแพ้ แนะนำหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่นฝุ่น หรือในบางรายแพ้เกสรดอกไม้บางชนิด สามารถรักษาด้วยยาหยอดแก้แพ้ และน้ำตาเทียม
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองแบบใดที่ช่วยรับมือกับเยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้จะช่วยรับมือกับเยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันได้
- ใช้เจลทำความสะอาดมือ และ/หรือ ล้างมือให้สะอาด หลังจากสัมผัสดวงตาหรือน้ำมูกของพวกเขา
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตาข้างที่ไม่ติดเชื้อหลังจากสัมผัสตาที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้หมอนหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำขณะที่มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ
หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับหมอของคุณ เพื่อเข้าใจวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับตัวคุณเอง