โรคโรซาเซียที่ดวงตา (ocular rosacea) คือการอักเสบที่ผิวตา มีอาการระคายเคืองตา คันตา มักจะเกิดขึ้นในคนที่มีโรคโรซาเซีย ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังบนใบหน้าและดวงตา
คำจำกัดความ
โรซาเซียที่ดวงตาคืออะไร
โรซาเซียที่ดวงตา (ocular rosacea) คือการอักเสบที่ผิวตา มีอาการระคายเคืองตา คันตา มักจะเกิดขึ้นในคนที่มีโรคโรซาเซีย ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังใบหน้าและดวงตา
โรซาเซียที่ดวงตาพบได้บ่อยแค่ไหน
เบื้องต้นแล้วโรคโรซาเซียที่ดวงตา จะพบมากในผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 30 ถึง 50 ปี มักจะเกิดในคนที่มีอาการหน้าแดงได้ง่าย และพบในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าคนเชื้อชาติเอเชีย สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดปรึกษากับแพทย์
อาการ
อาการของโรคโรซาเซียที่ดวงตาเป็นอย่างไร
อาการทั่วไปมีดังนี้
- ตาแห้ง
- ปวดแสบปวดร้อนบริเวณดวงตา
- คันในดวงตา
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
- มองเห็นไม่ชัด
- ตาไม่สู้แสง (photophobia)
- มีเยื่อบุตาแดง
- หลอดเลือดฝอยขยายตัวตรงบริเวณตาขาวมองเห็นได้ชัด
- เปลือกตาบวมแดง
- มีน้ำตาไหล
สัญญาณของการเกิดโรคโรซาเซียที่ดวงตานั้น อาจจะเกิดก่อนหรือเกิดพร้อมกับอาการของโรคโรซาเซียที่ผิวหนัง หรือเกิดแยกด้วยตัวของมันเอง
อาการที่รุนแรงของโรคโรซาเซียที่ดวงตา อาจไม่ตรงกับอาการที่รุนแรงของโรคโรซาเซียที่ผิวหนัง
อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ
ควรไปพบหมอเมื่อไร
ถ้าคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคโรซาเซียที่ดวงตา
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโรซาเซียที่ดวงตา แต่งานวิจัยพบว่า 85% ของผู้ที่มีอาการโรซาเซียที่ดวงตานั้นจะมีการปิดกั้นต่อมไขมันรอบดวงตา ต่อมพวกนี้มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ตาแห้ง ซึ่งถ้าหากมันถูกปิดกั้น บริเวณนั้นก็อาจจะเกิดอาการบวมและระคายเคืองได้ และอาจนำไปสู่อาการแดง คัน และตกสะเก็ดที่เปลือกตา
นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า ไร ซึ่งเป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนบนผิวหนัง คือตัวการในการปิดกั้นต่อมไขมัน บางส่วนเชื่อว่าอาจมีความเกี่ยวข้องของโรคโรซาเซีย กับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร (Digestive infections) และบางส่วนก็เชื่อว่าสาเหตุมาจากหลอดเลือด กรรมพันธ์ุ และสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะเป็นสาเหตุเช่นกัน
คนที่ผิวขาวมักจะมีอาการของโรคโรซาเซีย และผู้หญิงส่วนมากจะเกิดโรคนี้ในช่วงวัยหมดประจำเดือน โรคนี้ไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคโรซาเซียที่ดวงตา
โรคโรซาเซียที่ดวงตานั้นพบมากในผู้ที่เป็นโรคโรซาเซียอยู่ก่อนแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถเป็นโรคโรซาเซียที่ดวงตาได้ แม้ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับผิว โรคโรซาเซียที่ผิวหนังนั้นเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่โรคโรซาเซียที่ดวงตาจะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีอาการหน้าแดงง่าย มักจะมีโอกาสเป็นโรคโรซาเซียที่ดวงตา
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคโรซาเซียที่ดวงตา
คุณหมอจะทำการสำรวจที่ใบหน้าและดวงตา ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูเส้นเลือดฝอยบริเวณเปลือกตา และหาต่อมที่มีการอุดตัน
วิธีรักษาโรคโรซาเซียที่ดวงตา
โดยทั่วไปแล้ว สามารถควบคุมอาการของโรคโรซาเซียที่ดวงตาได้ ด้วยการใช้ยาและดูแลรักษาดวงตาที่บ้าน แต่ไม่สามารถรักษาโรคได้จึงทำให้มักกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือกลับมาเป็นโรคอีกครั้ง
คุณหมออาจจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะจำพวกเตตราไซคลีน (tetracycline) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และ มิโนไซคลีน (Minocycline) เป็นเวลาชั่วคราวเพื่อลดอาการตาอักเสบ และปรับสภาพไขมันบริเวณเปลือกตา นอกจากนี้น้ำตาเทียมจะสามารถบรรเทาอาการระคายเคืองตาได้ ในรายที่มีผิวตาอักเสบมาก การใช้ยาหยอดประเภทสเตียรอยด์ในระยะสั้นๆมีคความจำเป็น
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรับมือโรคโรซาเซียที่ดวงตา
ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรับมืออาการของคุณได้
- ทำความความสะอาดบริเวณเปลือกตาด้วยการประคบอุ่น นวดเปลือดตาเบาๆ และใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เปลือกตา เพื่อลดเปลือกตาอักเสบ โดยหมอแนะนำให้ทำวันละสองครั้ง เช้า เย็น
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง หากดวงตามีการอักเสบ เมื่อคุณสามารถแต่งหน้าได้ ให้เลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีน้ำมัน ไม่อุดตันรูขุมขน(noncomedogenic) และไม่มีน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ ขณะที่กำลังมีอาการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากคุณมีอาการตาแห้ง
- หลีกเลี่ยงการกำเริบอาการ ด้วยการไม่ทำอะไรที่กระตุ้นให้โรคโรซาเซีย ทั้งที่ดวงตาและผิวหนังแย่ลง โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลให้หลอดเลือดบนใบหน้าขยายตัว เช่น อาหารเผ็ดร้อน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง สอบถามคุณหมอสำหรับแนวทางการใช้งาน
หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด