backup og meta

PMS หรือ Premenstrual Syndrome อาการและวิธีรับมือ

PMS หรือ Premenstrual Syndrome อาการและวิธีรับมือ
PMS หรือ Premenstrual Syndrome อาการและวิธีรับมือ

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีอาการของ PMS เช่น ปวดท้อง หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับ มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง อย่างน้อย 1 อาการในทุก ๆ เดือน รับประทานยา เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพริน กรดมีเฟนามิก ร่วมกับการด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับให้เพียงพอ การงดคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ อาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้

[embed-health-tool-bmi]

PMS คืออะไร และเกิดจากอะไร

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ PMS ได้อย่างแน่ชัด แต่ภาวะนี้อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนแปรปรวนในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน โดยอาจเริ่มมีอาการหลังวันตกไข่ 1 วัน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะลดลงอย่างมาก ตามปกติแล้วกลุ่มอาการที่กล่าวมาจะหายไปหลังจากเริ่มเป็นประจำเดือนในรอบนั้น ๆ เนื่องจากระดับฮอร์โมนจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และจะกลับมาเป็นอีกเมื่อประจำเดือนรอบใหม่ใกล้เข้ามา

อาการของ PMS

อาการ PMS ที่พบได้บ่อยอาจมีดังนี้

อาการทางร่างกาย

  • หน้าอกคัดตึง ปวด หรือขยายใหญ่
  • เป็นสิว
  • ท้องอืด น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดหลัง
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • อยากอาหารมากกว่าปกติ

อาการทางอารมณ์

  • หงุดหงิดง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ซึมเศร้า
  • ร้องไห้ง่ายและบ่อย
  • วิตกกังวล
  • นอนหลับมากหรือน้อยกว่าปกติ
  • มีปัญหาในการจดจ่อและจดจำอะไรไม่ค่อยได้
  • มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง
  • มีความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง

ภาวะ PMS ที่เกิดขึ้นอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder หรือ PMDD) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น หงุดหงิดมากจนกระทบคนอื่น เครียดรุนแรง ซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตาย มีอาการแพนิค อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้บ่อย นอนไม่หลับ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ซึ่งถือเป็นอาการรุนแรงที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว

ผู้ที่มีปัจจัยต่อไปนี้ อาจยิ่งทำให้อาการของ PMS รุนแรงขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น อาการ PMS จะดีขึ้นหรือไม่

ภาวะ PMS อาจรุนแรงมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่ออายุ 30 ปลาย ๆ เข้าวัย 40 ปี หรือเข้าสู่ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) ยิ่งหากมีภาวะ PMS แล้วมีอารมณ์แปรปรวนมาตลอด เมื่อร่างกายปรับตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) อาจทำให้อารมณ์ยิ่งแปรปรวนง่ายและรุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเริ่มขาดสมดุลและจะขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างคาดเดาไม่ได้

ภาวะ PMS จะหายไปอย่างสมบูรณ์หลัเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายจะหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน รังไข่หยุดการผลิตไข่ และประจำเดือนไม่มาอีกเลย

การวินิจฉัย PMS

หากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจในช่วงก่อนมีประจำเดือนเป็นประจำจนภาวะ PMS กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ควรรีบไปพบคุณหมอ โดยทั่วไป คุณหมอจะสอบถามเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีอาการหรือความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น และอาจวินิจฉัยว่าเป็น PMS เมื่ออาการเข้าข่ายดังต่อไปนี้

  • มีอาการก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5 วัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
  • อาการหายไปภายใน 4 วันหลังมีประจำเดือน
  • อาการที่เกิดขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถไปเรียน ไปทำงาน ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ คุณหมออาจสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์และยาที่ใช้อยู่ และอาจสั่งทดสอบเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการในลักษณะเดียวกัน เช่น โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ระยะก่อนหมดประจำเดือน โรคไทรอยด์ ยารักษาโรคที่ใช้อยู่ ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)

การรักษา PMS

โดยทั่วไป คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์จากภาวะ PMS ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและรับประทานยาตามอาการที่พบ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาตามใบสั่งแพทย์เพิ่มเติม

การรักษาด้วยการใช้ยา

  • ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) กรดมีเฟนามิก (Mefenamic Acid) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านมและปวดประจำเดือนได้
  • ยาคุมกำเนิด (Hormonal birth control) เช่น ยาคุมแบบเม็ด ห่วงอนามัย ยาคุมแบบแปะ อาจช่วยยับยั้งการตกไข่และลดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดเต้านม ปวดท้อง
  • ยาต้านเศร้าและยาคลายกังวล (Antidepressants and anti-anxiety medication) เป็นยาที่ควรรับประทานภายใต้การดูแลของคุณหมอเท่านั้น
  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretic) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านม ท้องอืดได้

การรักษาด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างการวิ่ง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ อย่างน้อย 30 นาที/วัน จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและคลายความเครียดหรือความกังวลได้
  • รับประทานอาหารให้หลากหลายและมีสารอาหารครบถ้วนเช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังและไขมัน เนื้อปลา พืชตระกูลถั่ว และหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้อาการก่อนประจำเดือนแย่ลง เช่น อาหารรสเค็ม อาหารไขมันสูง อาหารน้ำตาลสูง และควรจำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์และอาหารที่มีคาเฟอีนสูง
  • นอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน อาจช่วยให้อารมณ์แจ่มใสและคลายความวิตกกังวลลงได้
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ทำงานบ้านเบา ๆ เพื่อคลายเครียด ลดความหงุดหงิดและความเศร้าที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีอาการก่อนประจำเดือน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/premenstrual-syndrome. Accessed April 12, 2023

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780. Accessed April 12, 2023

Premenstrual syndrome (PMS) https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/premenstrual-syndrome-pms.  Accessed April 12, 2023

Premenstrual Syndrome. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24288-pms-premenstrual-syndrome. Accessed April 12, 2023

Premenstrual Syndrome. https://medlineplus.gov/premenstrualsyndrome.html. Accessed April 12, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดท้องก่อนเป็นประจำเดือน 1 อาทิตย์ สาเหตุ วิธีดูแลตัวเอง

ตกขาวก่อนประจำเดือน ต่างจากตกขาวปกติอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา