การคุกคามทางเพศ เป็นพฤติกรรมที่คน ๆ หนึ่งแสดงหรือประสงค์ต่อคนอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแตะเนื้อต้องตัว การวิจารณ์รูปร่างทรวดทรง หรือการถามถึงประสบการณ์ทางเพศโดยที่ผู้ถูกถามไม่ยินยอม ทั้งนี้ การคุกคามทางเพศมักพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในที่ทำงาน สถานศึกษา และที่สาธารณะ สำหรับวิธีรับมือการคุกคามทางเพศที่ง่ายที่สุด คือการพูดคุยกับผู้คุกคามโดยตรง ว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสม และควรหยุดการกระทำนั้น ๆ
[embed-health-tool-ovulation]
การคุกคามทางเพศ คืออะไร
การคุกคามทางเพศ คือ พฤติกรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศที่คน ๆ หนึ่งปฏิบัติต่อคนอีกคนหนึ่ง โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม อาจเป็นการสัมผัสร่างกายหรือการใช้คำพูดเกี่ยวกับรูปร่างทรวดทรง การถามถึงประสบการณ์ทางเพศ
ในประเทศไทย รายงานฉบับหนึ่งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ รวมถึงได้รับความรุนแรงทางกายหรือใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ประมาณ 30,000 คน/ปี
ในขณะเดียวกัน รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่ในปีพ.ศ. 2565 ระบุว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทยไม่เคยมีการแจ้งความกับตำรวจ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ โดยบริษัท YouGov บริษัทวิจัยการตลาดแบบครบวงจรนานาชาติของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งได้สำรวจคนไทยจำนวน 1,107 ราย พบว่า ร้อยละ 21 ของกลุ่มตัวอย่างมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ และสถานที่ที่พบการถูกคุกคามทางมากที่สุดคือพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น รถประจำทาง ไนต์คลับ สถานศึกษา
พฤติกรรมแบบไหนที่จัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศ
พฤติกรรมที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศนั้นมีอยู่หลายประการ ดังต่อไปนี้
- การพยายามข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ
- การสัมผัสร่างกายด้วยการแตะ หยิก พิง ลูบหัว หรือกอด
- การส่งจดหมาย โทรหา หรือส่งภาพลามกอนาจารให้ โดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม
- การจ้อง เดินตาม หรือยืนขวางทางอีกฝ่าย
- การกดดันให้ไปออกเดทด้วย
- การเหยียดเพศ
- การแหย่ หยอกล้อ หรือพูดเรื่องเพศกับอีกฝ่าย
- การขยิบตา ส่งจูบ หรือเลียริมฝีปากให้อีกฝ่าย เมื่ออีกฝ่ายเดินผ่านหน้า
- การแสดงความเห็นต่อรูปร่าง ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม
- การเรียกด้วยสรรพนามที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมให้เรียก เช่น ที่รัก คนสวย หนูน้อย
- การเรียกด้วยการผิวปาก
- การถามถึงรสนิยมหรือประสบการณ์ทางเพศของอีกฝ่าย
- การลือถึงประสบการณ์ทางเพศของอีกฝ่าย โดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม
- การเล่นมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ
การล่วงละเมิดทางเพศต่างกับการคุกคามทางเพศอย่างไร
การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Assault) หมายถึง พฤติกรรมทางเพศในเชิงอาชญากรรม ที่บุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง กระทำต่ออีกบุคคลโดยปราศจากความยินยอม หรือผ่านการข่มขู่ บังคับ หรือทำให้ขาดสติด้วยฤทธิ์ของยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ พฤติกรรมที่จัดเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ประกอบด้วย
- การข่มขืนหรือพยายามข่มขืน
- การสอดใส่อวัยวะเพศ นิ้ว หรือสิ่งของเข้าไปในร่างกายของอีกฝ่าย
- การแอบแตะเนื้อต้องตัวอีกฝ่าย
- การเปิดกระโปรง แอบถ่ายใต้กระโปรง
- การใช้กำลัง วาจา หรืออุบายใด ๆ เพื่อหลอกล่อหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย
จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศนั้นมักเป็นเรื่องของการกระทำมากกว่าการใช้คำพูด นอกจากนั้น พฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศยังจัดเป็นอาชญากรรมอย่างชัดเจน ในขณะที่พฤติกรรมคุกคามทางเพศยังไม่ถูกจัดเป็นอาชญากรรมไปเสียทั้งหมด และยังไม่นับว่าเป็นความผิดตามกฎหมายที่เอาผิดผู้กระทำได้ โดยอาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือการแสดงออกที่เสียมารยาทหรือผิดกาลเทศะเท่านั้น
นอกจากนี้ ข้อแตกต่างอีกประการระหว่างการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศคือ การล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมทางเพศในระดับรุนแรง และส่งผลต่อร่างกายหรือจิตใจของเหยื่ออย่างเห็นได้ชัด จนอาจไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในขณะที่พฤติกรรมคุกคามทางเพศนั้นอาจทำให้รู้สึกไม่ชอบใจ กลัว กังวลใจ และรู้สึกอับอาย อย่างไรก็ตาม การคุกคามทางเพศอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศในภายหลังได้
การคุกคามทางเพศส่งผลอย่างไร
การคุกคามทางเพศส่งผลให้มีอาการดังต่อไปนี้ได้
- เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า
- ปวดหัว ปวดหลัง เนื่องจากความเครียด
- ไม่อยากเข้าสังคมหรือร่วมกิจกรรมใด ๆ
- เสียความมั่นใจในตัวเอง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือการกิน
- ขาดสมาธิ เสียประสิทธิภาพในการทำงาน
- อยากฆ่าตัวตาย
การคุกคามทางเพศ มีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
เมื่อถูกคุมคามทางเพศ อาจเลือกรับมือกับการคุกคามทางเพศด้วยวิธีการต่อไปนี้
- พูดกับอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่ชอบพฤติกรรมที่แสดงออกมา และควรหยุดแสดงพฤติกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากเป็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานหรือสถานศึกษา แล้วไม่สะดวกพูดคุยกับผู้คุกคามทางเพศโดยตรง ให้เลือกบอกผ่านหัวหน้า อาจารย์ หรือฝ่ายบุคคลแทน
- เก็บหลักฐาน หรือจดบันทึกเกี่ยวกับพฤติกรรมคุกคามทางเพศที่เจอไว้ เพราะอาจเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกับฝ่ายบุคคลหรือการดำเนินคดีทางกฎหมาย หากพฤติกรรมคุกคามทางเพศดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย
- หาพวกพ้อง ในกรณีที่ไม่พร้อมเผชิญกับผู้คุกคามทางเพศเพียงลำพัง อาจปรึกษาผู้ที่ไว้ใจได้ และให้มีคนกลางในการพูดเจรจาเพื่อให้อีกฝ่ายหยุดการกระทำหรือคำพูดที่เป็นการคุกคามทางเพศ
- ขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ จากองค์กรที่น่าเชื่อถือหากไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง เช่น มูลนิธิ ปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี ศูนย์ประชาบดี สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์