backup og meta

การทำหมันหญิง กับข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรรู้

การทำหมันหญิง กับข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรรู้

การทำหมันหญิง คือ วิธีการคุมกำเนิดประเภทหนึ่งสำหรับเพศหญิง โดยเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวรที่ได้ผล และยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ จึงเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับเพศหญิงที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม

[embed-health-tool-ovulation]

การทำหมันหญิง คืออะไร

การทำหมันหญิง (Tubal ligation หรือ Tubal Sterilization) คือ วิธีการคุมกำเนิดประเภทหนึ่งสำหรับเพศหญิง เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร โดยการตัดหรืออุดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง ป้องกันอสุจิเดินทางมาปฏิสนธิกับไข่ ลดโอกาสในการตั้งครรภ์ 100% อย่างไรก็ตาม การทำหมันนี้ไม่สามารถป้องกันจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การทำหมันหญิงนอกจากจะสามารถคุมกำเนิดได้อย่างถาวรแล้ว ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้อีกด้วย จึงเป็นทางเลือกยอดนิยม สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือไม่ต้องมีบุตรเพิ่ม

การทำหมันหญิงประเภทต่าง ๆ

การทำหมันหญิงแบ่งออกตามช่วงเวลาที่ทำหมันออกเป็นประเภทต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • การทำหมันเปียก หรือเรียกอีกอย่างว่า การทำหมันหลังคลอด หมายถึง การทำหมันทันทีหลังจากคลอดบุตร ไม่ว่าจะคลอดตามธรรมชาติ หรือทำการผ่าคลอด โดยปกติแล้วคุณหมอจะเริ่มทำหมันให้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังจากคลอดลูก เนื่องจากเป็นช่วงที่ผนังหน้าท้องมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถผ่าตัดได้อย่างสะดวก สามารถเย็บปิดแผลได้อย่างมิดชิดสวยงามมากกว่า นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่ผ่านการอดน้ำอดอาหารมาพร้อมแล้ว ทำให้สามารถลงมือทำหมันได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาอดน้ำอดอาหารเพิ่ม
  • การทำหมันแห้ง หมายถึง การทำหมันในช่วงเวลาอื่น ที่ไม่ใช่ช่วงเวลาหลังคลอด หรือทำหมันหลังจากคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ขึ้นไป
  • การทำหมันหลังแท้ง หมายถึง การทำหมันหลังจากที่แท้ง หรือมีการขูดมดลูก สามารถทำได้ทันทีหลังขูดมดลูก

การทำหมันหญิงมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

การทำหมันหญิงอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้

  • เกิดการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัดทำหมัน
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • เหนื่อยล้า
  • ปวดแผล
  • ยาสลบที่ใช้ในการผ่าตัดอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองได้
  • ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือเส้นเลือดใหญ่เกิดความเสียหาย ในระหว่างกระบวนการผ่าตัดทำหมัน
  • หากกระบวนการทำหมันผิดพลาด เช่น อุดท่อนำไข่ไม่ดี จนเชือกที่ผูกเพื่อปิดท่อนำไข่นั้นหลุด ก็อาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

นอกจากนี้ การทำหมันหญิงอาจจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบติดต่อคุณหมอในทันที

  • เป็นไข้สูง
  • มีเลือดไหลออกจากแผลผ่าตัด
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง และปวดตลอดเวลา
  • หน้ามืดบ่อย ๆ

ทั้งนี้ การทำหมันนั้นเป็นเพียงวิธีการคุมกำเนิดเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น ควรหาวิธีอื่นในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

การเตรียมตัวก่อนทำหมันหญิง

ก่อนทำหมันหญิงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับข้อมูลและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด ได้แก่

  • สอบถามรายละเอียดให้มากที่สุดเกี่ยวกับการทำหมันหญิง ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของการทำหมัน และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และขั้นตอนการผ่าตัด เพื่อเตรียมสภาพจิตใจและร่างกายให้พร้อม
  • ปรึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่จะทำหมัน เนื่องจากการทำหมันหญิงนี้จะเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร และไม่สามารถแก้กลับให้เป็นเหมือนเดิมได้ในภายหลัง หรือหากแก้กลับมาได้ ก็จะต้องใช้กระบวนการที่ซับซ้อนและยุ่งยากมาก หากไม่แน่ใจควรปรึกษาคุณหมอเพื่อความมั่นใจ
  • ปรึกษาเกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการทำหมันนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำหมัน เช่น หลังจากคลอดลูก หรือหลังจากการผ่าตัดทางช่องท้องอื่น ๆ หรือช่วงเวลาที่ตนเองสะดวกที่สุด

หากไม่ได้ทำหมันทันทีหลังจากคลอดลูก ในระหว่างรอการทำหมัน ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีการที่ได้ผล และเมื่อใกล้จะถึงเวลาทำหมัน ควรตรวจครรภ์ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนการทำหมัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tubal ligation. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/tubal-ligation/about/pac-20388360. Accessed August 11, 2022.

Tubal Sterilization (Tubal Ligation). https://familydoctor.org/tubal-sterilization/. Accessed August 11, 2022.

Female sterilisation. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/female-sterilisation/. Accessed August 11, 2022.

Sterilization. https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/sterilization. Accessed August 11, 2022.

What is Tubal Ligation. https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/tubal-ligation. Accessed August 11, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/02/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม และการทำหมันเป็นอย่างไร

การทำหมันหญิง การเตรียมตัว ขั้นตอน ความเสี่ยง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา