กินยาคุมแล้วประจําเดือนไม่มา อาจเกิดได้จากฮอร์โมนในยาคุมเข้าไปยับยั้งการตกไข่ จึงส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาช้ากว่ากำหนด ที่ส่งผลให้กังวลถึงความผิดปกติหรือการตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการการตั้งครรภ์และการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองร่วมด้วย หรืออาจเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยโดยตรง
[embed-health-tool-ovulation]
การทำงานของยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ยาคุมฉุกเฉินประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพียงชนิดเดียว โดยใน 1 แผง จะมี 2 เม็ด แต่ละเม็ดจะมีตัวยา 0.75 มิลลิกรัม ที่ควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันและมีการหลั่งใน เหมาะสำหรับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถุงยางแตก ลืมรับประทานยาคุมแบบรายเดือนมากกว่า 3 เม็ด 2. ยาคุมแบบรายเดือนที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน โดยใน 1 แผงจะมี 21-28 เม็ด รับประทานวันที่ประจำเดือนมา วันละ 1 ครั้ง ตามลูกศรบนแผงในช่วงเวลาเดียวกันและหยุดยา 7 วัน ในแบบแผง 21 เม็ด ก่อนเริ่มแผงใหม่ เพื่อให้ประจำเดือนมา ซึ่งปกติแล้วประจำเดือนจะมาหลังจากหยุดยาประมาณ 1-3 วัน 3. ยาคุมแบบรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดียวที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว แผงจะมี 28 เม็ด มักจะแนะนำให้กินในหญิงให้นมบุตรเนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงไม่มีผลต่อการผลิตน้ำนม ซึ่งในระหว่างกินอาจจะมีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยหรืออาจจะไม่มีประจำเดือนเลยก็ได้
ยาคุมกำเนิดทั้งรูปแบบรายเดือนและยาคุมฉุกเฉินจะมีการทำงานของฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายยับยั้งการตกไข่ สร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้นส่งผลให้อสุจิเดินทางเข้ามาปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก หรืออาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงที่ทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูกจนก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
กินยาคุมแล้วประจําเดือนไม่มา ผิดปกติหรือไม่
กินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา อาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากร่างกายปรับฮอร์โมนโดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาคุมแบบฉุกเฉิน เพราะยาคุมฉุกเฉินมีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสตินระดับสูงจึงส่งผลข้างเคียงที่ทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติหรือประจำเดือนไม่มา หรือมีเลือดออกกะปริบบกะปรอยที่ไม่ใช่ประจำเดือน
นอกจากนี้ ผู้ที่รับประทานยาคุมแบบรายเดือนตามลูกศรจนหมดแผงแรกแล้วประจำเดือนไม่มาภายใน 7 วันหลังจากหยุดรับประทานยาคุมก่อนเริ่มแผงใหม่ หรือประจำเดือนไม่มานานกว่า 1 เดือน อาจเป็นเรื่องผิดปกติที่เสี่ยงตั้งครรภ์ หรือต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตกไข่ทำงานผิดปกติเพราะมีความเครียดสูง จึงส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา หากมีความกังวลถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว
อาการผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ
อาการผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ มีดังนี้
- ประจำเดือนไม่มานานกว่า 1 เดือน
- ปวดท้องน้อยกะทันหัน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดมากที่ไม่ใช่ประจำเดือนนานกว่า 7 วัน
- รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
- เป็นลมบ่อยครั้ง
- มีไข้สูง
- ผิวซีด
- ตาพร่ามัว
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ความดันโลหิตสูง
- เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติที่อาจส่งผลให้หัวใจวาย