ยาคุมกินแล้วไม่อ้วน อาจต้องเลือกยี่ห้อที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสตินในปริมาณที่ต่ำ เพื่อลดผลข้างเคียงของฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดที่สูงเกินไป อาจช่วยลดอาการบวมน้ำและลดความอยากอาหารหลังจากกินยาคุมได้ อย่างไรก็ตาม อาการอ้วนขึ้นหลังกินยาคุมอาจเป็นเพียงผลข้างเคียงชั่วคราว ซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อพูดคุยถึงอาการที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนชนิดของยาคุมให้เหมาะสมกับสุขภาพ
[embed-health-tool-ovulation]
ยาคุมทำให้อ้วนได้หรือไม่
การกินยาคุมอาจทำให้อ้วนได้ โดยอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีปริมาณสูงมาก จึงทำให้ร่างกายเพิ่มการกักเก็บของเหลวมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมน้ำในช่วงแรกที่กินยาคุม ซึ่งเป็นเพียงผลข้างเคียงชั่วคราว และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือน นอกจากนี้ การได้รับฮอร์โมนโปรเจสตินในปริมาณที่สูงอาจเพิ่มความอยากอาหาร ทำให้กินอาหารมากขึ้นจนส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ยาคุมกินแล้วไม่อ้วน ควรเลือกอย่างไร
หากรู้สึกว่าตัวเองอ้วนขึ้นหลังจากกินยาคุม ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อเปลี่ยนชนิดของยาคุมให้เหมาะสมกับร่างกาย โดยยาคุมมีด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้
- ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดียว ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว
- ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน
ส่วนใหญ่แล้ว ยาคุมทั้ง 2 ชนิดแต่ละยี่ห้ออาจใช้ฮอร์โมนต่างชนิดกัน โดยอาจเลือกใช้ยาคุมชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเป็นชนิดดรอสไพรีโนน (Drospirinone) ซึ่งจะลดการคั่งของน้ำในร่างกายและไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม แต่อาจมีปริมาณของฮอร์โมนที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้มีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน จึงอาจต้องเลือกยี่ห้อของยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสตินไม่สูงเกินไป เพื่อลดอาการบวมน้ำและลดความอยากอาหาร ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากฮอร์โมนที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ดังนั้น จึงควรรับประทานยาคุมอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อสังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยาคุม
วิธีดูแลตัวเองเมื่อกินยาคุมแล้วน้ำหนักเพิ่มขึ้น
หากกินยาคุมแล้วน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้นควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ อาจต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันโดยการลุกและเดินไปเดินมา หรือยืดกล้ามเนื้อทุก ๆ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้ขยับและอาจช่วยป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง จึงควรเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อยและเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ นมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น คุกกี้ เค้ก น้ำหวาน นมหวาน อาหารแปรรูป เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลอรี่ที่สูงเกินไป
- ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญ ควรออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลางมากขึ้น เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว เต้นแอโรบิก อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 30 นาที/วัน และควรเพิ่มการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เช่น ซิทอัพ แพลงก์ (Plank) ยกน้ำหนัก สควอช (Squat) เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย