backup og meta

ยาคุมพรีม ใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ยาคุมพรีม ใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ยาคุมพรีม (Preme) เป็นยาเม็ดรวมฮอร์โมนสำหรับรับประทานเพื่อคุมกำเนิด ประกอบด้วยตัวยาฮอร์โมน ไซโปรเทอโรน อะซีเตท (Cyproterone Acetate) และเอทินิล เอสทราไดออล (Ethinyl Estradiol) ยาคุมพรีมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือยาคุมชนิด 21 เม็ดและยาคุมชนิด 28 เม็ด ทั้งนี้ ก่อนเลือกใช้ยาคุมพรีม ควรปรึกษาและเข้ารับการประเมินภาวะสุขภาพจากคุณหมอหรือเภสัชกรเสียก่อน เนื่องจากการใช้ยาคุมพรีมอาจมีประสิทธิภาพต่อการคุมกำเนิดและส่งผลต่อสุขภาพแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

[embed-health-tool-ovulation]

ยาคุมพรีม คืออะไร 

ยาคุมพรีม เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแบบรับประทาน ประกอบด้วยฮอร์โมนไซโปรเทอโรน อะซีเตท 2 มิลลิกรัม และเอทินิล เอสทราไดออล 0.035 มิลลิกรัม

ยาคุมพรีมออกฤทธิ์คุมกำเนิด โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เกิดเมือกที่ปากมดลูก ซึ่งขัดขวางการเดินทางของเชื้ออสุจิ ที่หลั่งเข้ามาในช่องคลอดจากการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งอาจทำให้สิวและอาการหน้ามันลดลงด้วย

ยาคุมพรีมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ยาคุมพรีมแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด โดยแบบหลัง ประกอบด้วยเม็ดยา 21 เม็ด เช่นเดียวกับแบบแรก แต่จะมีเม็ดยาที่มีส่วนผสมจากแป้ง 7 เม็ด ซึ่งใช้สำหรับรับประทานหลอกระหว่าง 7 วันหลังจากรับประทานยา 21 เม็ดแรกหมดแผงแล้วเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำหรือกำหนดการรับประทานยาก่อนเริ่มยาแผงใหม่

ทั้งนี้ ยาคุมพรีม ทั้งแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ด ราคาแผงละประมาณ 100-130 บาท

ยาคุมพรีม ใช้อย่างไรและมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดต้องรับประทานยาคุมพรีมวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน จากนั้นเว้น 7 วัน (หรือรับประทานยาหลอก 7 วัน) แล้วจึงเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ และควรรับประทานยาคุมพรีมในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา ทั้งนี้ หากลืมรับประทานยาเกิน 12 ชั่วโมง จะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลง หรืออาจพบเลือดไหลจากช่องคลอด ก่อนช่วงเวลามีประจำเดือน ทั้งนี้ ยาคุมพรีมยังมีข้อบ่งชี้และข้อควรระวังในการใช้ ดังต่อไปนี้

  • หากไม่เคยคุมกำเนิดเลย หรือไม่ได้คุมกำเนิดใน 1 เดือนที่ผ่านมา ให้เริ่มรับประทานยาคุมพรีมในวันแรกแต่ไม่เกินวันที่ห้าของการมีรอบเดือน โดยใน 14 วันแรกของการใช้ยา ควรคุมกำเนิดโดยสวมถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ทั้งนี้ หากใช้ยากล่องถัดไป ควรสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หากใช้ยาคุมกำเนิดชนิดอื่นมาก่อน ให้เริ่มรับประทานยาคุมพรีมในวันถัดจากวันสุดท้ายที่รับประทานยาคุมดังกล่าว
  • หากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Minipill) มาก่อน ให้เริ่มรับประทานยาคุมพรีมในวันแรกของประจำเดือน แม้ว่าในวันนั้นจะรับประทานยาคุมกำเนิดฮอร์โมนเดี่ยวก่อนแล้ว
  • หากใช้การคุมกำเนิดแบบฉีดหรือแบบแปะมาก่อน ให้เริ่มรับประทานยาคุมพรีม ในวันที่ยาแบบฉีดหรือแปะหมดฤทธิ์ หรือถูกนำออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากเริ่มใช้ยาคุมพรีมในกรณีนี้ ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 14 วันแรกของการใช้ยาคุมพรีม
  • หลังจากคลอดบุตร ไม่ควรเริ่มใช้ยาคุมพรีมจนกว่าจะมีประจำเดือนอีกครั้ง และไม่ควรเริ่มใช้ขณะให้นมบุตร ทั้งนี้ หากต้องการใช้ยาคุมพรีมหลังคลอด ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ
  • หากทำแท้งหรือแท้งลูก ก่อนตัดสินใจรับประทานยาคุมพรีม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำ

ยาคุมพรีม กับวิธีปฏิบัติตัวหากลืมรับประทาน

หากลืมรับประทานยาคุมพรีม ให้รีบรับประทานยาคุมพรีมทันทีที่นึกได้ และให้รับประทานยาเม็ดถัดไปในเวลาที่รับประทานยาปกติ ทั้งนี้ หากขาดยาคุมพรีมไปนานเกิน 12 ชั่วโมง จากเวลาที่รับประทานยาเป็นปกติ ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกได้เช่นกัน ซึ่งทำให้ต้องรับประทานยา 2 เม็ดในหนึ่งวัน และควรคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน

ยาคุมพรีม และการใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น  

ยาคุมพรีมอาจออกฤทธิ์ได้น้อยลงหรือส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง เมื่อรับประทานร่วมกับตัวยาดังต่อไปนี้

  • ยารักษาโรคลมชัก เช่น ไพรมิโดน (Primidone) เฟนิโทอิน (Phenytoin)
  • ยารักษาวัณโรค เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ไรฟาบูติน (Rifabutin)
  • ยารักษาโรคเอดส์ เช่น เนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir) อีฟาวิเรนซ์ (Efavirenz)
  • ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin) เตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin)

ยาคุมพรีม ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

เมื่อใช้ยาคุมพรีม ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ ประกอบด้วย

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • มวนท้อง
  • คัดตึงเต้านม
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • มีอาการซึมเศร้า หากใช้ยาเป็นระยะเวลานาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

PREME. https://pillintrip.com/medicine/preme. Accessed July 12, 2022.

PREME. https://www.sdrugs.com/?c=drug&s=preme. Accessed July 12, 2022.

Cyproterone acetate กับมาตรการลดความเสี่ยงต่อเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (meningioma). https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1576. Accessed July 12, 2022.

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/417/ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม. Accessed July 12, 2022.

Minipill (progestin-only birth control pill). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/minipill/about/pac-20388306. Accessed July 12, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมกำเนิด มีการทำงาน และผลข้างเคียงอย่างไร

ทำหมัน วิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชายและหญิง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา