คันอวัยวะเพศหญิงภายนอก เป็นอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นบนผิวหนังอวัยวะเพศหรือบริเวณโดยรอบ บางครั้งอาการคันอาจมาพร้อมกับผื่นแดง อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ผิวหนังอักเสบ เนื้องอก โรคปลายประสาทอักเสบ หรือการตั้งครรภ์ การดูแลและการรักษาอย่างเหมาะสมอาจช่วยบรรเทาอาการคันที่อาจเกิดขึ้นได้
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
คันอวัยวะเพศหญิงภายนอกคืออะไร
อาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก คือ อาการระคายเคืองบริเวณผิวภายนอกอวัยวะเพศ ทำให้รู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรือบริเวณอื่น ๆ โดยรอบ ได้แก่ หัวหน่าว แคมใหญ่ แคมเล็ก ฝีเย็บ หรือเนื้อเยื่อระหว่างช่องคลอดและทวารหนัก และคลิตอริสหรือปุ่มกระสัน
อาการคันสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป และอาจไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้าอาการคันนั้นรบกวนการใช้ชีวิต หรือเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังอาจเกิดจากปัญหาผิวหนัง เช่น กลาก โรคสะเก็ดเงิน การระคายเคืองจากเสื้อผ้า การติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการ
อาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
อาการคันอวัยวะเพศหญิงอาจมาพร้อมกับอาการผื่นแดง ซึ่งไม่ได้หมายถึงปัญหาสุขภาพเสมอไป แต่หากมีอาการคันอย่างต่อเนื่องตามตำแหน่งต่าง ๆ ของอวัยวะเพศ ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคได้ ดังนี้
- อาการคันบริเวณต้นขา อาจหมายถึงการระคายเคืองจากผิวหนังอักเสบจากพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะนาน ๆ
- อาการคันบริเวณขาหนีบ อาจหมายถึงโรคผิวหนังอักเสบ อาการผื่นจากเชื้อรา
- อาการคันบริเวณหัวหน่าว อาจหมายถึงโรคผิวหนังอักเสบ รูขุมขนอักเสบ
- อาการคันบริเวณแคมใหญ่ อาจหมายถึงโรคสะเก็ดเงินที่อวัยวะเพศ โรคผิวหนังภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen simplex)
- อาการคันบริเวณแคมเล็ก อาจหมายถึงโรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus) หรือโรคไลเคนสเคลโรซัส (Lichen Sclerosus)
- อาการคันบริเวณช่องคลอด อาจหมายถึงโรคไลเคนพลานัส การตกขาว หรือการติดเชื้อ
- อาการคันบริเวณฝีเย็บ อาจหมายถึงโรคผิวหนังอักเสบ หรือโรคไลเคนสเคลโรซัส
สาเหตุ
สาเหตุของอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
อาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ผิวหนังอักเสบ
ผิวหนังอักเสบจากความระคายเคืองเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ความระคายเคืองจากโรคผิวหนังอักเสบหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน ลมพิษ ภูมิแพ้ รูขุมขนอักเสบ โรคไลเคนพลานัส
อาการคันจากความระคายเคืองอื่น ๆ เช่น
- การให้นมบุตรหรือวัยหมดประจำเดือนที่ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น แห้ง ลอกเป็นขุย และมีอาการคัน
- การเกาผิวหนังบ่อยครั้ง
- ความอับชื้น และการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง เสื้อผ้า หรือการมีเพศสัมพันธ์
- ความระคายเคืองจากสิ่งสกปรกในอุจจาระหรือปัสสาวะ
- ความระคายเคืองจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์แรงเกินไป
- ความระคายเคืองเมื่อมีสารคัดหลั่งในช่องคลอดที่มากเกินไป
- สารก่อภูมิแพ้ทำให้ผิวหนังปากช่องคลอดอักเสบ และมีอาการคัน เช่น สีย้อมผ้า น้ำหอม สเปรย์ระงับเหงื่อ สารในถุงยางอนามัยหรือถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด
การติดเชื้อ
อาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก อาจเกิดจากการติดเชื้อแคนดิดา (Candida albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาจทำให้เกิดอาการคัน มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน หรือผู้ที่กำลังใช้ยาปฏิชีวนะ แต่พบน้อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรืออาจเป็นผลสืบเนื่องจากโรคผิวหนังบริเวณอื่น นอกจากนี้ อาการคันอวัยวะเพศภายนอกอาจเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ดังนี้
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย ทำให้ตกขาวเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็น อาการคัน
- หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลักษณะเป็นตุ่มอ่อนนุ่มอยู่บริเวณอวัยวะเพศ รู้สึกเจ็บ ไม่สบายตัว และมีอาการคัน
- พยาธิเข็มหมุด เป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดหรือทวารหนัก และทำให้เกิดอาการคันในเวลากลางคืน
เนื้องอก
เนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณช่องคลอดในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ และอาจทำให้มีอาการคันได้ ดังนี้
- โรคมะเร็งปากช่องคลอด
- โรค Extramammary Paget เป็นมะเร็งปากช่องคลอดชนิดหนึ่ง ที่อาจเริ่มต้นจากเนื้องอกบริเวณผิวช่องคลอด
โรคระบบประสาทส่วนปลายอักเสบ
อาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอกอาจเกิดจากปัญหาของระบบประสาทส่วนปลาย เช่น การบาดเจ็บ การผ่าตัด การกดทับเส้นประสาทอวัยวะเพศภายในกระดูกเชิงกรานหรือในกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการคันได้
การตั้งครรภ์
ในขณะตั้งครรภ์อาจเกิดอาการคันอวัยวะเพศได้ เนื่องจากเส้นเลือดในช่องคลอดบวมขึ้น นอกจากนี้ อาการตกขาวในคนท้องและการติดเชื้อราระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการคันได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก มีดังนี้
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส
- ความระคายเคืองการเสียดสีของเสื้อผ้า หรือผิวหนัง
- ปัญหาผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก
- โรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคระบบประสาทส่วนปลาย
- การตั้งครรภ์
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
การวินิจฉัยอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพและประวัติอาการคันที่เกิดขึ้น และคุณหมออาจตรวจช่องคลอดและบริเวณอวัยวะเพศเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม ดังนี้
- ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสในบริเวณที่มีอาการคัน
- เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังไปทำการทดสอบเพื่อหาสาเหตุของอาการคัน
การรักษาคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
การรักษาอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอกจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน ดังนี้
- การติดเชื้อ การใช้ยาต้านเชื้อราหรือยาปฏิชีวนะ
- โรคผิวหนังอักเสบ ใช้สเตียรอยด์เฉพาะที่หรือสารยับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin inhibitors) รักษาอาการคัน และการระคายเคือง
- อาการลมพิษ ใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน
- การผ่าตัดเนื้องอก
- อาการทางระบบประสาท ใช้ยากล่อมประสาท ยากันชัก ยาแก้ซึมเศร้า (Serotonin reuptake agents)
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการคันแบบไม่เฉพาะเจาะจงสาเหตุ มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือขัดถูบริเวณที่มีอาการคัน
- สวมกางเกงในและกางเกงที่ไม่คับแน่นเกินไป ระบายอากาศได้ดี
- ปล่อยให้อวัยวะเพศระบายอากาศบ้าง โดยเฉพาะตอนนอน อาจไม่จำเป็นต้องสวมกางเกงในเพื่อลดความอับชื้น
- ใช้สารให้ความชุ่มชื้นและกักเก็บความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง เช่น ซอร์โบลีน (Sorbolene) ปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum jelly)
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลอวัยวะเพศเพื่อลดอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอก มีดังนี้
- ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศวันละ 1-2 ครั้งขณะอาบน้ำ ด้วยน้ำสะอาด หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศสูตรอ่อนโยน
- เช็ดอวัยวะเพศให้แห้งทุกครั้งโดยเฉพาะหลังอาบน้ำ และหลังเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด การใช้ทิชชู่เปียก สารระงับเหงื่อ หรือเครื่องสำอางอื่น ๆ ทาบริเวณอวัยวะเพศเพราะอาจระคายเคืองได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือติดเชื้อที่อวัยวะเพศได้
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยครั้งเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย และเปลี่ยนกางเกงในเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดการอับชื้นที่อาจทำให้เกิดอาการคัน
- มีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันทุกครั้ง