backup og meta

ตัดมดลูกทิ้ง ผลกระทบ ต่อร่างกาย มีอะไรบ้าง

ตัดมดลูกทิ้ง ผลกระทบ ต่อร่างกาย มีอะไรบ้าง

การผ่าตัดเอามดลูกออก (Hysterectomy) เป็นวิธีรักษาภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง  เช่น โรคมะเร็งทางนรีเวช ภาวะเนื้องอกมดลูก ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ การ ตัดมดลูกทิ้ง มีผลกระทบต่อร่างกายหลายประการ จึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน และปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการป้องกันและการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

ตัดมดลูกทิ้ง ทำในกรณีใดบ้าง

การผ่าตัดมดลูกทิ้ง อาจใช้เมื่อมีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

  • เนื้องอกในมดลูก (เป็นกรณีที่พบบ่อยที่สุด)
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
  • โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis)
  • ปัญหาเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน เช่น ภาวะมดลูกหย่อน (Uterine prolapse) อาการปวดเชิงกรานเรื้อรัง
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal uterine bleeding)
  • โรคมะเร็งทางนรีเวช เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งโพรงมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งมดลูก

ประเภทของการผ่าตัดมดลูก

ประเภทของการผ่าตัดมดลูก อาจแบ่งออกได้ดังนี้

  • การตัดมดลูกทั้งหมด (Total Hysterectomy) เป็นการตัดมดลูกและปากมดลูกทั้งหมดออก โดยยังเก็บส่วนของรังไข่เอาไว้
  • การตัดออกเฉพาะมดลูก (Supracervical Hysterectomy) เป็นการตัดเฉพาะส่วนบนของมดลูก โดยไม่ตัดปากมดลูกออกไปด้วย คุณหมออาจผ่าตัดเอาเฉพาะมดลูกออกผ่านหน้าท้องหรือทางช่องคลอด
  • การผ่าตัดนำมดลูก ปากมดลูก ท่อนำไข่ และปีกมดลูกทั้งหมด (Total Hysterectomy with Bilateral Salpingo-Oophorectomy) เป็นการผ่าตัดที่นำอวัยวะหลายส่วนในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงออก ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงและทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้อีก ผู้ที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน จะเริ่มมีอาการของภาวะหมดประจำเดือนหลังรับการผ่าตัดประเภทนี้
  • การตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical Hysterectomy with bilateral salpingo-oophorectomy) เป็นการผ่าตัดนำมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อรอบ ๆ มดลูก รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองโดยรอบออก เพื่อรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชในระยะลุกลาม

ตัดมดลูกทิ้ง ผลกระทบ ต่อร่างกาย มีอะไรบ้าง

หลังการผ่าตัดมดลูก อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีของเหลวไหลออกจากช่องคลอด เป็นผลกระทบที่พบได้บ่อยที่สุดหลังผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้นานถึง 6 สัปดาห์
  • แผลผ่าตัดระคายเคือง อาจมีอาการคัน ระคายเคืองบริเวณที่ผ่าตัด
  • มีภาวะหมดประจำเดือน ผู้ที่ผ่าตัดมดลูกทิ้งและตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างอาจจะมีอาการของภาวะหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง หมดอารมณ์ทางเพศ นอนไม่หลับ เนื่องจากร่างกายไม่มีรังไข่ที่หลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป คุณหมอจะพูดคุยกับผู้รับการผ่าตัดถึงทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงอาการที่กล่าวมาข้างต้น
  • มีความเสี่ยงสุขภาพเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกทิ้งโดยไม่เก็บรังไข่ทั้ง 2 ข้างเอาไว้ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพบางประการเพิ่มขึ้นเนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โรคไขมันในเลือดสูง โรคอัลไซเมอร์ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

นอกจากนี้ การผ่าตัดมดลูกทิ้ง ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดทั่วไป เช่น

  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • การติดเชื้อรุนแรง
  • ภาวะเลือดออกมาก
  • ภาวะลำไส้อุดตัน
  • แผลภายในฉีกขาด
  • การบาดเจ็บของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาสลบ เช่น อาการเจ็บคอจากการใช้ท่อหายใจ ผลข้างเคียงของยาสลบอย่างอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการสับสนมึนงง

การพักฟื้นหลังตัดมดลูกทิ้ง

ผู้เข้ารับการผ่าตัดมดลูกอาจต้องพักอยู่ในห้องพักฟื้นต่ออีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง และต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 คืน ระยะฟื้นตัวจากการผ่าตัดมดลูกของผู้ป่วยแต่ละคนอาจขึ้นอยู่กับวิธีรักษาและการดูแลตัวเอง โดยทั่วไป หลังผ่าตัดมดลูก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ และงดการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น

ระยะฟื้นตัวหลังผ่าตัดมดลูก อาจมีดังนี้

  • การผ่าตัดทางหน้าท้อง อาจใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • การผ่าตัดทางช่องคลอด การผ่าตัดส่องกล้อง หรือการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ อาจใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 3-4 สัปดาห์

ทั้งนี้ การตัดมดลูกทิ้งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม และศึกษาผลกระทบของการผ่าตัดอย่างรอบด้าน ในบางกรณี การรักษาอาจทำได้ด้วยการไปพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่อตรวจสอบว่าภาวะสุขภาพสามารถดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัดได้หรือไม่ บางรายก็อาจรอจนกระทั่งไม่ต้องการมีบุตรเพิ่มแล้วจึงค่อยเข้ารับการตัดมดลูก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal hysterectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/vaginal-hysterectomy/about/pac-20384541.  Accessed April 5, 2023

Hysterectomy. https://www.womenshealth.gov/a-z-topics/hysterectomy. Accessed April 5, 2023

Hysterectomy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/hysterectomy. Accessed April 5, 2023

Hysterectomy. https://www.nichd.nih.gov/health/topics/uterine/conditioninfo/treatments/hysterectomy. Accessed April 5, 2023

Hysterectomy. https://www.webmd.com/women/guide/hysterectomy. Accessed April 5, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)

เซ็กส์หลังผ่าตัดมดลูก เตรียมความพร้อมอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา