ติ่งเนื้อปากมดลูก หรือ เนื้องอกปากมดลูก (Cervical polyps) คือก้อนเนื้อขนาดเล็กที่เจริญเติบโตขึ้นในบริเวณปากมดลูก แต่ไม่ใช่โรคมะเร็ง อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด หากสังเกตว่ามีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ พร้อมทั้งมีเมือกสีขาว และสีเหลืองออกมาจากช่องคลอด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาในทันที
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
ติ่งเนื้อปากมดลูก คืออะไร
ติ่งเนื้อปากมดลูก จัดเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก และยาว ที่เติบโตในบริเวณปากมดลูก มักมีลักษณะเป็นโพรงแคบ ตั้งอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก อีกทั้งติ่งเนื้อมีโครงสร้างเปราะบางที่เติบโตจากขั้วที่ฝังรากลงบนพื้นผิวของปากมดลูก หรือภายในโพรงมดลูก โดยส่วนใหญ่ติ่งเนื้อ มักมีเพียงจุดเดียว หรือ 2-3 จุด เป็นอย่างมาก
ซึ่งสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับติ่งเนื้อปากมดลูกอีกอย่างนั้น มักไม่ร้ายแรงมากนัก และไม่ใช่ก้อนเนื้อของมะเร็ง อย่างที่เข้าใจผิดกัน เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกมักไม่ได้เกิดจากติ่งเนื้อ แต่เกิดจากไวรัสฮิวแมนพาพิโลมา (Human Papilloma Virus: HPV) หรือเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดที่อวัยวะเพศ
ติ่งเนื้อปากมดลูก สามารถพบบ่อยได้เพียงใด
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ติ่งเนื้อปากมดลูกพบได้มากที่สุดในผู้หญิงในช่วงอายุ 40 – 50 ปี ที่มีบุตรมากกว่าหนึ่งคน หรือระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งปากมดลูกแทบจะไม่เกิดขึ้นในผู้หญิงอายุน้อย และช่วงวัยก่อนเริ่มมีประจำเดือน
อาการ
อาการของ ติ่งเนื้อปากมดลูก
อาการต่าง ๆ ของติ่งเนื้อปากมดลูกอาจไม่สามารถสังเกตได้แน่ชัด แต่อาจมีอาการบางอย่างที่สามารถเป็นสัญญาณเตือนแรกเริ่มได้ เช่น มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดลักษณะเป็นเมือกสีขาว หรือสีเหลือง รวมไปถึงมีประจำเดือนมากผิดปกติ
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดติ่งเนื้อปากมดลูก
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดติ่งเนื้อปากมดลูกมากนัก แต่บางทฤษฎีมีความเชื่อว่าติ่งเนื้อปากมดลูกเกิดมาจากสาเหตุหลัก ดังต่อไปนี้
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้น
- การอักเสบเรื้อรังของปากมดลูก ช่องคลอด หรือมดลูก
- หลอดเลือดตีบตัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดติ่งเนื้อมดลูก
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการของการการติ่งเนื้อปากมดลูก เช่น
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
โดยธรรมชาติแล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิต โดยจะมีค่าสูงที่สุดในระหว่างช่วงปีที่มีบุตร และในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวยังสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สารซีโนเอสโตรเจน (Xenoestrogens) ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนมที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้า อีกทั้งสารเอสโตรเจน ยังอาจพบได้ในอาหารที่อยู่ภาชนะพลาสติก หรือโฟมพลาสติกเมื่อได้รับความร้อน จึงทำให้คุณอาจได้รับฮอร์โมนนี้เข้าสู่ร่างกายในชีวิตประจำวันอย่างมากจนมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงก่อให้เกิดติ่งเนื้อขึ้นในที่สุด
- การติดเชื้อ
ปากมดลูกที่ติดเชื้อจะทำให้คุณระคายเคือง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะปากมดลูกติดเชื้อ อีกทั้งยังอาจทำให้คุณประสบกับการติดเชื้อจากแบคทีเรียเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพเพิ่มเติมได้ เช่น การเกิดหูด การแท้งบุตร โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยติ่งเนื้อมดลูก
หากผู้ป่วยอยู่ในความเสี่ยง คุณอาจจำเป็นเข้ารับการทดสอบบางประการ โดยเริ่มอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) จากนั้นจะทำการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อของติ่งเนื้อออกมา เพื่อเข้าไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ และหาวิธีการรักาาที่เหมาะสมในลำดับถัดไป
การรักษาติ่งเนื้อมดลูก
ในบางครั้ง ติ่งเนื้อปากมดลูกจะหลุดออกมาเองได้ในขณะที่ผู้หญิงมีประจำเดือน หรือในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการนำติ่งเนื้อออกนั้น อาจจำเป็นต้องเข้ารับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้
- การบิดส่วนโคนของติ่งเนื้อออก
- การผูกสายผ่าตัดรอบโคนติ่งเนื้อ และตัดออก
- การใช้ปากคีบรูปวงแหวนเพื่อดึงติ่งเนื้อออก
- การใช้ไนโตรเจนเหลว
- การจี้ด้วยไฟฟ้า โดยการใช้เข็มที่ทำให้ร้อนด้วยไฟฟ้า
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์
ระหว่างการนำติ่งเนื้อออก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บในเวลาสั้นๆ แต่ไม่รุนแรงมากนัก และอาจมีอาการตะคริวเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงหรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยเป็นเวลา 1-2 วัน หลังจากนำติ่งเนื้อออกไป
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและรักษาติ่งเนื้อปากมดลูก
- การเข้ารับการตรวจเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอช่วยให้ตรวจพบก้อนเนื้อ
- สวมใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายซึ่งช่วยระบายอากาศได้ดี เพื่อเป็นการป้องกันความร้อน และความชื้นในร่มผ้า พร้อมทั้งป้องกันการติดเชื้อ
- ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- เข้ารับการตรวจเชิงกราน อย่างสม่ำเสมอ