backup og meta

ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในวัยหมดประจำเดือน ผิดปกติไหม

ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในวัยหมดประจำเดือน ผิดปกติไหม

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือน หรืออายุประมาณ 45-50 ปี ร่างกายจะหยุดผลิตฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้อวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงรังไข่ค่อย ๆ หยุดทำงาน รังไข่จะหยุดผลิตไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือนอีก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนบางคนอาจพบว่า ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ โดยอาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งภาวะนี้พบได้ทั่วไป แต่หากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและกลับมามีประจำเดือนอีกครั้งหลังหมดประจำเดือนไปแล้วอย่างน้อย 1 ปี อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะผิดปกติ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว โรคมะเร็งโพรงมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก ควรไปพบหมอสูตินรีเวชเพื่อตรวจภายในและรักษาอย่างถูกวิธี

[embed-health-tool-ovulation]

ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในวัยหมดประจำเดือน เกิดขึ้นเพราะอะไร

สาเหตุที่ ประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือหมดระดู หรือที่เรียกว่า วัยทอง อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Atrophic vaginitis) ทำให้เยื่อบุช่องคลอดบางลง และอาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกบางลง เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน น้อยลง เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกบางลงอาจทำให้เกิดแผลหรือมีเลือดออกจากช่องคลอดได้
  • ติ่งเนื้อในมดลูกหรือปากมดลูก อาจทำให้เลือดออกหากเกิดจากเสียดสีที่มดลูก เช่น การมีเพศสัมพันธ์ และทำให้ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ได้
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (Endometrial hyperplasia) ภาวะเลือดออกจากช่องคลอดอาจเกิดจากการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเพื่อบำบัดอาการต่าง ๆ ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง
  • โรคมะเร็ง เลือดออกเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ ยังอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งช่องคลอดหรือโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่เป็นโรคทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น โรคหนองในหรือโรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น เมื่อเกิดเสียดสีอาจทำให้เกิดเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ได้

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

โดยทั่วไป แม้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว แต่ก็อาจมีประจำเดือนได้อีกสักระยะ เลือดประจำเดือนในช่วงนี้อาจกะปริบกะปรอย ลักษณะเป็นสีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลอ่อน แต่บางคนก็อาจมีเลือดประจำเดือนมากเหมือนช่วงที่มีประจำเดือนปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่พบว่า ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ หลังจากไม่มีประจำเดือนแล้วอย่างน้อย 1 ปี ควรไปพบคุณหมอทันที เพื่อวินิจฉัยอาการ สาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากมีอาการหรือความผิดปกติเกี่ยวกับช่องคลอดอื่น ๆ เช่น อาการเจ็บหรือเลือดออกในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย

การวินิจฉัยเมื่อ ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่

คุณหมอสูตินรีเวชอาจซักประวัติสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจและหาสาเหตุของภาวะ ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การอัลตราซาวด์ คุณหมอจะตรวจภายในด้วยการอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูก มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก รังไข่
  • การดูดเอาชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกไปตรวจ (Endometrial Biopsy) เป็นการเป็นการเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยการสอดเครื่องที่มีลักษณะเป็นท่อบางขนาดเล็กเข้าไปในโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด แล้วดูดเอาเซลล์เยื่อบุผนังมดลูกชั้นในไปตรวจหาความผิดปกติในห้องปฏิบัติการ
  • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นการสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อตรวจสภาพภายในโพรงมดลูก ตั้งแต่บริเวณปากมดลูกไปจนถึงโพรงมดลูก
  • การขูดมดลูก (Dilation and curette หรือ D&C) คุณหมอจะใช้เครื่องมือขนาดเล็กขยายปากมดลูก แล้วดูดหรือขูดชิ้นส่วนเยื่อบุผนังมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อ โรคมะเร็ง ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว

วิธีรักษาเมื่อประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในวัยหมดประจำเดือน

วิธีรักษาภาวะประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ในวัยหมดประจำเดือนขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ โดยวิธีรักษาที่นิยมใช้ อาจมีดังนี้

  • การใช้ยารักษา มักใช้สำหรับรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อที่ปากมดลูกและการติดเชื้อภายในมดลูก หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการและฆ่าเชื้อแบคทีเรียภายในอวัยวะสืบพันธุ์
  • การบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อรักษาช่องคลอดฝ่อ เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อบาง เป็นต้น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ใช้มีทั้งแบบเม็ดสำหรับรับประทาน ยาสอดทางช่องคลอด และวงแหวนคุมกำเนิด
  • การบำบัดด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน เพื่อรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เป็นต้น ยาฮอร์โมนโปรเจสตินมีทั้งแบบเม็ดสำหรับรับประทาน ยาฮอร์โมนแบบฉีด ยาสอดทางช่องคลอด และห่วงคุมกำเนิด
  • การผ่าตัดผ่านกล้องในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เพื่อรักษาภาวะติ่งเนื้อภายในมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เป็นต้น โดยคุณหมอจะผ่าตัดโดยการ สอดกล้องขนาดเล็กประมาณ 2-5 มิลลิเมตรเข้าไปในโพรงมดลูกผ่านช่องคลอด เพื่อให้มองเห็นสภาพภายในโพรงมดลูกได้ชัดเจนขึ้น ก่อนจะใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กหรือเครื่องจี้ไฟฟ้าที่ปลายท่อ แล้วผ่าตัดรักษาอาการผิดปกติที่พบ
  • การขูดมดลูก (Dilation and curette หรือ D&C) เพื่อรักษาติ่งเนื้อและขจัดเนื้อเยื่อของเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาเกินไป ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา
  • การตัดมดลูก (Hysterectomy) เพื่อรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือโรคมะเร็งปากมดลูก หรือผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวบางราย ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอามดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ หรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงออกด้วย
  • การฉายรังสี เคมีบำบัด และฮอร์โมนบำบัด เพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อเนื่องหลังจากรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคุณหมอจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับชนิดของมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นต้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Should you be concerned about post-menopausal bleeding? https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/postmenopausal-bleeding-should-you-be-concerned. Accessed April 18, 2022

Bleeding After Menopause Could Be a Problem. Here’s What to Know. https://www.acog.org/womens-health/experts-and-stories/the-latest/bleeding-after-menopause-could-be-a-problem-heres-what-to-know. Accessed April 18, 2022

Postmenopausal bleeding. https://www.nhs.uk/conditions/post-menopausal-bleeding/. Accessed April 18, 2022

Postmenopausal Bleeding. https://www.webmd.com/menopause/guide/postmenopausal-bleeding#091e9c5e80642ed7-3-8. Accessed April 18, 2022

Bleeding after menopause. https://www.healthdirect.gov.au/bleeding-after-menopause#normal. Accessed April 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/01/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

มี ประจำเดือน 2 ครั้ง ต่อเดือน ร่างกายเราผิดปกติ อะไรเปล่านะ ?

ประจําเดือนเลื่อน เกิดจาก อะไร อันตรายต่อร่างกายหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา