backup og meta

ยาสอด ช่องคลอด ใช้รักษาอะไร และวิธีการใช้ที่ถูกต้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    ยาสอด ช่องคลอด ใช้รักษาอะไร และวิธีการใช้ที่ถูกต้อง

    ยาเหน็บช่องคลอด หรือที่นิยมเรียกว่า ยาสอด เป็นยาปฏิชีวนะแบบใช้เฉพาะที่ มีทั้งชนิดเม็ดหรือน้ำ ยาสอดมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ายาเม็ดหรือยาแคปซูลสำหรับรับประทาน แต่ออกฤทธิ์เร็วกว่า สามารถรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด ภาวะช่องคลอดแห้ง เชื้อราในช่องคลอด ทั้งนี้ สามารถใช้ยาสอดได้ด้วยตัวเองที่บ้าน วิธีการใช้ยาสอดมี 2 แบบ ได้แก่ การสอดด้วยมือ และการใช้เครื่องมือช่วยสอด แม้วิธีการใช้ยาสอดจะไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ก็ควรเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องให้เข้าใจก่อนใช้งาน เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยที่สุด

    ยาสอดช่องคลอด คืออะไร

    ยาสอด หรือยาเหน็บ คือยาใช้เฉพาะที่ ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาเม็ดหรือยาแคปซูลสำหรับรับประทาน เนื่องจากซึมเข้ากระแสเลือดในบริเวณที่ต้องการรักษาได้ทันที ยาสอดนิยมใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด โรคริดสีดวงทวาร อาการท้องผูก ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น อีกทั้งยังอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกรับประทานยา เนื่องจากกลืนยาไม่ได้ รู้สึกว่ายาขมเกินไป เป็นต้น

    ยาสอดช่องคลอด คือยาปฏิชีวนะใช้เฉพาะที่ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ที่ใช้เหน็บหรือสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหรือเชื้อราภายในช่องคลอด เชื้อราในช่องคลอด ภาวะช่องคลอดแห้ง อาการตกขาวผิดปกติ เป็นต้น

    การใช้ยาสอดช่องคลอดสามารถทำเองได้ที่บ้าน เพราะเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก สามารถใช้ยาเม็ดสอดเข้าทางช่องคลอดด้วยตัวเองและรอให้ยาออกฤทธิ์ได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง ควรใช้ยาสอดช่องคลอดในปริมาณที่คุณหมอแนะนำหรือเพียง 1 ครั้ง/วัน หากลืมใช้ยาสอด ให้ใช้ยาในวันต่อไปตามขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสอดช่องคลอดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ จึงควรอ่านคู่มือการใช้งาน และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    ผลข้างเคียงของยาสอดช่องคลอด

    อาการข้างเคียงที่อาจเกิดหลังใช้ยาสอดอาจมีดังนี้

  • เป็นไข้
  • คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้องหรือเป็นตะคริว
  • นอกจากยาสอดที่ใช้ทางช่องคลอดแล้ว ยังมียาสอดที่ใช้สำหรับรักษาโรคเกี่ยวกับอวัยวะส่วนอื่นด้วย ได้แก่ ยาสอดที่ใช้กับทวารหนัก (Rectal Suppositories) ที่นิยมใช้เพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวารและอาการท้องผูก และยาสอดท่อปัสสาวะ (Urethral Suppositories) ที่ช่วยรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชภรก่อนใช้ เพื่อการใช้งานที่ถูกวิธี ช่วยให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสอดแต่ละชนิด

    วิธีใช้ ยาสอด ทางช่องคลอด

    วิธีใช้ยาสอดช่องคลอดที่ถูกต้อง อาจทำได้ดังนี้

  • อ่านฉลาก วิธีการใช้ยา และข้อควรระวังอย่างละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ แล้วเช็ดมือให้แห้ง
  • แกะเม็ดยาแล้วนำเม็ดยาจุ่มน้ำประมาณ 1-2 วินาที เพื่อให้เม็ดยาลื่น ใช้งานได้ง่ายขึ้น
  • นอนหงายแล้วชันเข่าขึ้น แยกขาออกเล็กน้อย อยู่ในท่าเตรียมพร้อมสำหรับการสอดยา
  • สอดยาเข้าไปทางช่องคลอด โดยใส่ด้านมนของยาเข้าไปก่อนแล้วดันเข้าไปให้ลึกที่สุด
  • นอนต่อในท่าเดิมเป็นเวลาประมาณ 15 นาที เพื่อให้ยาละลายอย่างเต็มที่และซึมเข้าไปในช่องคลอด
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ แล้วเช็ดมือให้แห้ง
  • หลังสอดยาอาจมีตัวยาซึมออกมานอกช่องคลอด แนะนำให้ใส่แผ่นอนามัยหรือผ้าอนามัยรองรับยาบางส่วนที่อาจไหลออกมา และไม่ควรขยับตัวหรือเดินไปมา เพื่อช่วยให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ เวลาในการใช้ยาสอดช่องคลอดที่เหมาะสมที่สุด คือ ก่อนเข้านอน

    ความผิดปกติหลังใช้ยาสอดที่ต้องไปพบคุณหมอ

    หากใช้ยาสอดแล้วพบอาการผิดปกติเหล่านี้ อาจต้องไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

    • รู้สึกร้อนบริเวณช่องคลอด
    • รู้สึกระคายเคืองบริเวณช่องคลอด
    • ตกขาวมีกลิ่น
    • มีเลือดออกจากช่องคลอด
    • รู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • มีอาการแพ้ เช่น เป็นผื่นผิวหนัง รู้สึกคัน หน้า ปาก และลิ้นบวม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา