backup og meta

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัญหาทางเพศ ที่พบได้ในผู้หญิง

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัญหาทางเพศ ที่พบได้ในผู้หญิง

ปัญหาทางเพศ อย่าง ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สามารถพบได้ในผู้หญิง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นขึ้นได้ทุกช่วงวัย โดยอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการมีเพศสัมพันธ์และความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปํญหาทางเพศอาจช่วยให้สามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

ปัญหาทางเพศ คืออะไร

ปัญหาทางเพศ ในผู้หญิง อย่าง ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มักจะใช้อธิบายถึงลักษณะปัญหาซ้ำๆ หรือปัญหาต่อเนื่องระยะยาวเกี่ยวกับการตอบสนองทางเพศ ความต้องการทางเพศ การสำเร็จความใคร่ หรือความเจ็บปวดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงหลายๆ คนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิงนี้ สามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกช่วงวัย และอาจจะเกิดขึ้นกับทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ หรือแค่เฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง ทำให้คุณผู้หญิงและคนรักไม่สามารถได้รับความสุขจากกิจกรรมทางเพศอย่างเต็มที่

จากงานวิจัยของ Sexual Advice Association พบว่า ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนี้ เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีอายุน้อยและผู้หญิงวัยกลางคนมากถึง 1 ใน 3 และพบได้มากกว่านั้นในผู้หญิงสูงอายุ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บอกว่า ผู้หญิงกว่า 43% นั้นอาจจะเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในทางใดทางหนึ่ง ผู้หญิงหลายคนอาจจะรู้สึกเขินอายเกินกว่าจะไปรับการรักษา แม้ว่าปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิงส่วนใหญ่นั้นจะเป็นปัญหาที่สามารถรักษาโดยวิธีทางการแพทย์ได้ก็ตาม

ปัญหาทางเพศ ในผู้หญิงมีอาการอย่างไรบ้าง

อาการของปัญหาทางเพศอย่างการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง จะแตกต่างกับไปดังต่อไปนี้

  • มีความต้องการทางเพศลดลง ปัญหานี้เป็นปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิงที่พบได้มากที่สุด อาการอาจจะมีทั้งการสนใจในเรื่องเกี่ยวกับเพศลดลง หรือรู้สึกไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเลยก็เป็นได้
  • การกระตุ้นอารมณ์ผิดปกติ อาจจะยังมีความต้องการทางเพศอยู่ แต่ไม่สามารถเร้าอารมณ์หรือกระตุ้นอารมณ์ได้ หรือไม่สามารถรักษาอารมณ์นั้นไปได้ตลอดระยะเวลาที่ทำกิจกรรมทางเพศ
  • ไม่สามารถสำเร็จความใคร่ได้ ไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้แม้ว่าจะใช้เวลานานในการกระตุ้นและเร้าอารมณ์อย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
  • มีอาการเจ็บปวดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ หากรู้สึกเจ็บหรือปวดอย่างรุนแรง ระหว่างการกระตุ้นหรือทำกิจกรรมทางเพศ จนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเพศต่อไปได้จนสำเร็จลุล่วง

สาเหตุของ ปัญหาทางเพศ ในผู้หญิง

ปัญหาทางด้านร่างกาย

โรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ทั้งเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง โรคไต โรคตับ ภาวะความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือโรคพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง

นอกจากนี้ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาต้านซึมเศร้า กลุ่ม SSRI หรือการใช้ยาหรือบริโภคแอลกอฮอล์มากจนเกินไป ก็อาจสามารถส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน

ปัญหาฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำในวัยหลังหมดประจำเดือน สามารถส่งผลกระทบต่อการตอบสนองทางเพศและการทำงานของอวัยวะเพศได้ เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง จะส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานน้อยลง ทำให้ความไวของประสาทสัมผัสในอวัยวะเพศน้อยลงด้วย

ดังนั้นผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ จึงต้องใช้เวลานานในการกระตุ้นกว่าจะสำเร็จความใคร่ได้ นอกจากนี้ปัญหาเยื่อบุช่องคลอดบางลงและมีความยืดหยุ่นน้อยลงก็สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์และส่งผลให้เกิดปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน

ปัญหาทางด้านจิตใจ

ปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องทางเพศ ความสัมพันธ์ และปัญหาอื่นๆ นอกจากนี้ การเคยได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเรื่องทางเพศ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศได้อย่างใหญ่หลวง

ยกตัวอย่างเช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลที่ไม่ได้รับการรักษาสามารถกลายเป็นสาเหตุหรือก่อให้เกิดปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิงได้ ความกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือการเป็นแม่คนก็สามารถส่งผลที่คล้ายกันได้

หนทางการรักษาปัญหาทางเพศ

เมื่อพบว่าตัวเองมีปัญหาทางเพศ ควรไปปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง คุณหมอจะทำการซักประวัติทางการแพทย์ รวมไปจนถึงความสัมพันธ์และปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ หากปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นเกี่ยวข้องกับการขาดฮอร์โมน เช่น เทสโทสเตอโรน หรือ เอสโตรเจน คุณหมออาจจะสั่งให้ทำการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน hormone replacement therapy (HRT) หรือหากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า คุณหมอก็จะสั่งให้ทำการรักษาโรคเหล่านั้นตามแต่เฉพาะ

หากปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มาจากปัญหาทางด้านจิตใจ คุณหมออาจจะให้เข้ารับการรักษาโดย Sex therapy การบำบัดด้วยวิธีนี้ จะให้ได้เปิดปกคุยกับคู่รักและนักบำบัด เกี่ยวกับปัญหาทางเพศที่มี

ทางที่ดีควรจะเปิดใจและและแจ้งปัญหาทั้งหมดให้คนรักและนักบำบัดทราบโดยไม่ต้องปิดบัง เพื่อที่จะได้สามารถร่วมมือกันหาทางออก เกี่ยวกับปัญหาทางเพศได้ในที่สุด และช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในระยะยาวอย่างมีความสุข

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Female sexual dysfunction. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/female-sexual-dysfunction/symptoms-causes/syc-20372549. Accessed 25 October 2019

Female Sexual Dysfunction. https://www.webmd.com/women/guide/sexual-dysfunction-women#1 Accessed 25 October 2019

Female sexual problems. https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/female-sexual-problems/. Accessed 25 October 2019

Female Sexual Dysfunction: Therapeutic Options and Experimental Challenges. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3008577/. Accessed September 30, 2022.

Female Sexual Dysfunction: Evaluation and Treatment. https://www.aafp.org/pubs/afp/issues/2000/0701/p127.html. Accessed September 30, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เทสโทสเตอโรนช่วยคุณได้หรือเปล่า?

ร้องไห้หลังมีเซ็กส์ เป็นเพราะอะไร จัดการได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา