ปกติแล้วผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุก ๆ 28 วัน บางคนอาจมาเร็วกว่าหรือช้ากว่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ ความเครียด การออกกำลังกายอย่างหนัก อาจเป็นสาเหตุที่ประจำเดือนไม่มาได้ ดังนั้น หากสังเกตพบว่ามีอาการประจำเดือนไม่มา ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุที่ประจําเดือนไม่มา
สาเหตุที่ประจำเดือนไม่มา อาจมีดังต่อไปนี้
- การรับประทานยาคุมกำเนิด ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือหยุดรับประทานยาคุมได้ไม่นานอาจมีอาการประจำเดือนไม่มา เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย อาจต้องรอเวลาให้ร่างกายปรับระบบฮอร์โมนก่อนเพื่อให้การหลั่งของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนกลับมาเป็นปกติ และร่างกายมีการตกไข่ จึงจะทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
- การตั้งครรภ์ ผนังมดลูกที่มีตัวอ่อนฝังอยู่จะไม่หลุดลอกออกมาขณะตั้งครรภ์ ทำให้ประจำเดือนไม่มาหากสังเกตว่าประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน ควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ หรือตรวจที่โรงพยาบาล
- น้ำหนักตัวน้อยกว่าหรือมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อาจไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอที่จะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก จนอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยควบคุมระบบสืบพันธุ์ในปริมาณมากเกินไป หรือน้ำหนักตัวที่มากจะส่งผลกระทบต่อการตกไข่ จนทำให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้
- ความเครียด อาจเปลี่ยนแปลงการทำงานของไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านล่างของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนหลายชนิดที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับการตกไข่และการมีประจำเดือน
- การออกกำลังกายหนักเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดจนไปรบกวนการทำงานของต่อมใต้สมอง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตกไข่และประจำเดือน จนอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคทางจิตเวช ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาโรคภูมิแพ้ เคมีบำบัดมะเร็ง ที่อาจส่งผลให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และกระทบต่อการมีประจำเดือน
- วัยใกล้หมดประจำเดือน มักพบได้ในผู้หญิงที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ลดลง ทำให้กระทบต่อการตกไข่ ส่งผลให้ประจำเดือนเริ่มคลาดเคลื่อน ระยะการมีประเดือนห่างออก จนสิ้นสุดการมีประจำเดือน
- ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เนื้องอก พังผืดในโพรงมดลูก โครงสร้างของมดลูกและระบบสืบพันธ์ุเสียหายจากการผ่าตัด การขูดมดลูก ล้วนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่งผลรบกวนต่อการตกไข่ และอาจทำให้ประจำเดือนไม่มา
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อประจำเดือนไม่มา
หากประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- มีบุตรยาก ปัญหาไข่ไม่ตกและฮอร์โมนไม่สมดุล อาจเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตร มีลูกยาก หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ได้
- ปวดกระดูกเชิงกราน เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นเมื่อประจำเดือนไม่มา หรือเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
- สุขภาพจิตใจ การที่ประจำเดือนไม่มาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ ทำให้เครียดหรือวิตกกังวล พบได้มากในวัยรุ่นที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่
- โรคกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดหัวใจ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไม่เพียงพออาจทำให้มวลกระดูกอ่อนแอเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่อาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและหัวใจวายได้
สิ่งที่ควรทำเมื่อประจำเดือนไม่มา
สิ่งที่ควรทำเมื่อประจำเดือนไม่มา อาจมีดังนี้
การตรวจสุขภาพ คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยการทดสอบ ดังนี้
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ รวมถึงตรวจเพื่อให้ทราบการทำงานของต่อมไทรอยด์ การทำงานของรังไข่ ระดับฮอร์โมนโปรแลคติน และระดับของฮอร์โมนเพศชาย เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้ประจำเดือนไม่มา
- อัลตราซาวด์หรือการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในร่างกาย โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์
- ตรวจโครโมโซม เพื่อดูว่ามีเซลล์ที่ขาดหาย หรือโครโมโซมเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อช่วยระบุความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
การรักษาอาการประจำเดือนไม่มา
การรักษาภาวะประจำเดือนไม่มาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ดังนี้
- บำบัดด้วยฮอร์โมน สำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมออาจให้รับประทานยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน หรือโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว เพื่อปรับระบบฮอร์โมนมีความสมดุล
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มาเพราะออกกำลังกายอย่างหนัก ซึมเศร้า เครียด น้ำหนักเกินหรือน้อยกว่าเกณฑ์ ควรปรับพฤติกรรมเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก เช่น ลดความเข้มข้นการออกกำลังกายลง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ จัดการกับความเครียดด้วยการผ่อนคลายอารมณ์
- เปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิด ผู้ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลานานหลังหยุดยา คุณหมอจึงอาจแนะนำให้คุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD)