backup og meta

หนองในเทียม คืออะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    หนองในเทียม คืออะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร

    หนองในเทียม คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทำให้มีของเหลวไหลออกจากอวัยวะเพศ คล้ายหนอง แสบร้อนบริเวณอวัยวะเพศ และอาการปวด หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น ต่อมลูกหมากติดเชื้อ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ดังนั้น ควรเข้ารับการรักษาทันทีหากสังเกตว่ามีอาการตกขาวผิดปกติ มีการหลั่งหนองออกจากองคชาต และเจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะและระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    หนองในเทียม คืออะไร

    หนองในเทียม คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) ซึ่งพบได้ในบริเวณปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ ท่อปัสสาวะ ช่องปาก ลำคอ ทวารหนัก และน้ำอสุจิ ที่สามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โรคหนองในเทียมอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่โรคหนองในแท้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเภทของโรคหนองใน ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) อาจทำให้มีอาการที่รุนแรง โดยเฉพาะในผู้ชาย

    สาเหตุของหนองในเทียม

    หนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ที่มักแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก โดยมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

    • การมีคู่นอนหลายคน
    • การไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
    • คู่นอนมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • การมีกิจกรรมทางเพศก่อนอายุ 25

    อีกทั้งเชื้อคลาไมเดียยังอาจแพร่กระจายจากแม่สู่ทารกได้ในระหว่างการคลอด และอาจส่งผลให้ทารกแรกเกิดเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ตาและเป็นโรคปอดบวมรุนแรง

    อาการของหนองในเทียม

    อาการของหนองในเทียม มีดังนี้

    อาการหนองในเทียมในผู้หญิง

    • มีไข้
    • ตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
    • เจ็บแสบอวัยวะเพศระหว่างมีเพศสัมพันธ์และปัสสาวะ
    • มีอาการคันและรู้สึกแสบร้อนในช่องคลอดหรือรอบนอกช่องคลอด

    อาการหนองในเทียมในผู้ชาย

    • มีของเหลวใสหรือขุ่นออกจากปลายองคชาต
    • เจ็บแสบอวัยวะเพศระหว่างปัสสาวะ
    • รู้สึกแสบร้อนและคันบริเวณองคชาต
    • อัณฑะบวมและมีอาการปวด

    ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หากมีการติดเชื้อในบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือไส้ตรง ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดทวารหนัก มีของเหลวไหลหรือมีเลือดออก อีกทั้งหากนำมือที่สัมผัสกับของเหลวจากผู้ติดเชื้อมาสัมผัสกับดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตา และทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ ควรพบคุณหมอทันทีที่สังเกตว่ามีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ไขข้ออักเสบ ภาวะมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก การติดเชื้อในอัณฑะและต่อมลูกหมาก

    วิธีรักษาหนองในเทียม

    วิธีรักษาหนองในเทียม มีดังนี้

    • ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย และช่วยหยุดการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของแบคทีเรีย โดยรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน หรือตามที่คุณหมอกำหนด สำหรับยาเม็ดควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่ควรแบ่งยา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง หากสังเกตว่ามีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เจ็บคอ ระคายเคืองในช่องคลอด เบื่ออาหาร หายใจลำบาก ปวดท้อง อุจจาระเป็นเลือด ลมพิษ ควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย และช่วยหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยรับประทานเพียง 1 ครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารเพื่อป้องกันอาการปวดท้อง หากสังเกตว่ามีอาการรุนแรง เช่น วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า ผื่นขึ้น ปวดท้อง คลื่นไส้ ตาพร่ามัว หายใจผิดปกติ กลืนอาหารลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    คำแนะนำในระหว่างการรักษาหนองในเทียม

    ในระหว่างการรักษาหนองในเทียม ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก ประมาณ 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่เริ่มการรักษา หรือจนกว่าอาการที่มีจะหาย และควรงดมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ยังไม่ได้รับการรักษา ควรให้คู่นอนในช่วง 60 วัน ก่อนจะมีอาการมาตรวจหาเชื้อด้วย นอกจากนี้ หลังจากการรักษา 3-6 เดือน ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียไปสู่คู่นอน อีกทั้งควรปรับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้เซ็กส์ทอยร่วมกันกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย รับการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา