backup og meta

หยุดกินยาคุม ประจำเดือนไม่มา เกิดจากอะไร

หยุดกินยาคุม ประจำเดือนไม่มา เกิดจากอะไร   

หยุดกินยาคุม ประจำเดือนไม่มา อาจมีสาเหตุมาจากระบบฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากการรับฮอร์โมนจากภายนอก เมื่อหยุดกินยาคุมจึงอาจต้องใช้เวลาให้ร่างกายปรับตัว เพื่อกลับมาหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้มีประจำเดือน แต่หากหยุดกินยาคุมหลายเดือนแล้วประจำเดือนยังไม่มา อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด ความไม่สมดุลของฮอร์โมน โรคประจำตัว

[embed-health-tool-ovulation]

ยาคุมส่งผลต่อประจำเดือนอย่างไร

ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน มีหน้าที่ช่วยป้องกันการตกไข่ สร้างสภาวะในช่องคลอดให้ไม่เหมาะกับการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกข้นและหนาขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าถึงไข่ได้ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง เพื่อป้องกันการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ซึ่งฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดอาจยับยั้งการสร้างฮอร์โมนตามปกติของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน จึงส่งผลต่อการมีประจำเดือน บางคนอาจมีประจำเดือนน้อยลง บางคนอาจไม่มีประจำเดือน หรือบางคนอาจมีภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดหายไป

หยุดกินยาคุมแต่ประจำเดือนไม่มา เกิดจากอะไร

การหยุดกินยาคุมกำเนิดอาจมีโอกาสที่ประจำเดือนจะมาช้าได้ เนื่องจากฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดจะเข้าไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมนตามปกติที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน เมื่อหยุดกินยาคุมกำเนิดร่างกายอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวให้เป็นปกติและเริ่มควบคุมกระบวนการตามธรรมชาติด้วยตัวเองอีกครั้ง ทั้งนี้ ประจำเดือนมาช้าอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้

  • ความเครียด ความเครียดที่รุนแรงและเรื้อรังอาจส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนการสืบพันธุ์และฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกาย อาจทำให้มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและนอนไม่หลับ ทั้งยังอาจทำให้ประจำเดือนขาด ประจำเดือนไม่มา มาไม่ปกติหรือประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติได้
  • การออกกำลังกายหนักเกินไป ส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงซึ่งทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติหรือประจำเดือนไม่มาได้
  • การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปอาจทำให้ร่างกายมีสารอาหารไม่เพียงพอเพื่อช่วยกระตุ้นในการผลิตฮอร์โมนการตกไข่ และผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ส่งผลให้รอบเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ
  • การตั้งครรภ์ จะทำให้การตกไข่หยุดลง เนื่องจากรังไข่ไม่ปล่อยไข่ออกมาตามปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ไม่สมดุล ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากหรือน้อยเกินไป อาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน อาจทำให้ประจำเดือนมามากหรือน้อยเกินไป มาไม่ปกติ หรือประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน
  • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากต่อมไร้ท่อ ซึ่งทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล ส่วนมากส่งผลให้ร่างกายไม่มีการตกไข่ตามปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา มาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน

วิธีช่วยให้ประจำเดือนมาปกติหลังหยุดกินยาคุม

วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติหลังจากหยุดกินยาคุมกำเนิดได้

  • การจัดการกับความเครียด ความเครียดที่รุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้ประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนไม่มาได้ เนื่องจาก ความเครียดส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย จึงควรจัดการกับความเครียดด้วยการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น เดินเล่น พักผ่อน ออกกำลังกาย ทำสวน พบปะเพื่อนฝูง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับสนิทในตอนกลางคืนส่งผลต่อการปรับสมดุลของฮอร์โมนและการซ่อมแซมตัวเองของร่างกาย รวมทั้งยังช่วยจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี
  • การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและสม่ำเสมอ การเปลี่ยนแปลงอาหารกะทันหันหรือการจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารอาจทำให้รอบเดือนหยุดชะงักได้ จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น ธัญพืช โปรตีน นมไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
  • การควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไปสามารถส่งผลต่อฮอร์โมนการสืบพันธุ์ได้ จึงควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นม ไข่ ถั่ว ผักและผลไม้ และการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น เดิน โยคะ แอโรบิก
  • เข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพ หลังจากหยุดยาคุมกำเนิด หากประจำเดือนขาดนานเกิน 3 เดือนหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพและหาสาเหตุของปัญหา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth control pill FAQ: Benefits, risks and choices. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/birth-control/in-depth/birth-control-pill/art-20045136. Accessed March 18, 2022

คลังข้อมูลยา. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=7866. Accessed March 18, 2022

สอบถามเรื่องประจำเดือน หลังจากหยุดยาคุม. http://www.rtcog.or.th/home/question/%E0%. Accessed March 18, 2022

Menstrual impact of contraception. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8178900/. Accessed March 18, 2022

Delaying your period with hormonal birth control. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/birth-control/in-depth/womens-health/art-20044044. Accessed March 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/06/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมกำเนิด มีการทำงาน และผลข้างเคียงอย่างไร

ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน ที่ควรรู้ก่อนใช้งาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/06/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา