backup og meta

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เกิดจากอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เกิดจากอะไรได้บ้าง

    เสื่อมสมรรถภาพ เป็นปัญหาทางเพศที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น มีปัญหาบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ภาวะซึมเศร้า ยารักษาโรคบางชนิด ที่ส่งผลให้คู่รักไปไม่ถึงจุดสุดยอดได้ขณะมีเพศสัมพันธ์ จนอาจนำไปสู่การมีปัญหาในความสัมพันธ์ มีบุตรยาก ดังนั้น หากสังเกตตนเองว่ามีอารมณ์ทางเพศลดลง อวัยวะเพศของผู้ชายไม่แข็งตัว ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ และเข้ารับรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอย่างถูกวิธี

    สัญญาณเตือนของปัญหา เสื่อมสมรรถภาพ 

    สัญญาณเตือนของปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอาจสังเกตได้จาก

  • ความต้องการทางเพศต่ำ ไม่มีความสนใจทางเพศ
  • บางคนอาจมีความต้องการทางเพศ แต่อาจมีในระยะเวลาสั้น และอาจหมดลงระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่สำเร็จความใคร่ถึงแม้ว่าจะถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอย่างต่อเนื่อง
  • อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และหลั่งเร็วระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในผู้ชาย
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เกิดจากอะไร

    เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คือ ปัญหาการตอบสนองทางเพศเสื่อมลง ทำให้หมดอารมณ์ทางเพศ ช่องคลอดแห้ อวัยวะเพศไม่แข็ง ไม่สามารถสำเร็จความใคร่ หรือเสร็จเร็วจนเกินไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ปัจจัยที่ส่งผลให้เสื่อมสมรรถทางเพศส่วนใหญ่อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    • ปัญหาทางด้านจิตใจ การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีควรมีอารมณ์ร่วมกัน แต่สำหรับบางคนที่ไม่อาจมีอารมณ์ทางเพศได้ถึงแม้ว่าจะถูกกระตุ้น อาจเกิดจากปัญหาเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงไม่อาจปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ภาวะซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจทำให้ปฏิกิริยาการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศลดลง อวัยวะเพศของผู้ชายไม่แข็งตัว ช่องคลอดผู้หญิงแห้ง จึงอาจนำไปสู่สมรรถทางเพศเสื่อมได้
    • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง มักเกิดขึ้นในผู้หญิงช่วงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจาก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง การไหลเวียนเลือดไปยังอุ้งเชิงกรานน้อย ส่งผลให้ไม่ค่อยมีการตอบสนองทางเพศ ไปถึงจุดสุดยอดได้ช้า และอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศเปลี่ยนแปลง เยื่อบุช่องคลอดบางทำให้รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
    • การตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจาก การตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องเว้นระยะในการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะคลอดและแผลคลอดหาย เพื่อความปลอดภัยของทารก สำหรับช่วงระหว่างการให้นมทารก คุณแม่อาจมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ทำให้ช่องคลอดแห้งขณะมีเพศสัมพันธ์จึงอาจส่งผลให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง
    • โรคเรื้อรัง สภาวะสุขภาพบางประการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหลอดเลือด อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสืบพันธุ์ จนนำไปสู่ความต้องการทางเพศลดลง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อม เส้นเลือดอุดตัน โรคต่อมไทรอยด์ ต่อมลูกหมากโต กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) โรคพีโรนี (Peyronie’s Disease) โรคหนองใน เริมที่อวัยวะเพศ
    • ยาบางชนิด การใช้ยารักษาโรคบางชนิดเช่น ยากล่อมประสาท ยาบรรเทาอาการวิตกกังวล ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะทางจิตใจ ลมบ้าหมู ความดันโลหิต โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นอกจากนั้น การรักษาด้วยการฉายรังสี การผ่าตัด ก็อาจทำให้สมรรถทางเพศเสื่อม หรือรู้สึกสนใจกิจกรรมทางเพศลดลงได้
    • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานและปริมาณมาก อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่นำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสืบพันธุ์ ส่งผลให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม และอวัยวะเพศของผู้ชายไม่แข็งตัวได้

    วิธีรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพ

    การรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพ สามารถทำได้ดังนี้

    • บำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน มีในรูปแบบครีม เจล ยาเม็ด เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง เพิ่มการไหลเวียนเลือดในช่องคลอด กระตุ้นการสร้างน้ำหล่อลื่นในช่องคลอด
    • ออสเปมิเฟน (Ospemifene) เป็นยาเม็ดแบบรับประทานเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ในผู้หญิงที่ช่องคลอดแห้ง
    • ยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เช่น ฟลิแบนเซริน (Flibanserin) เบรเมลาโนไทด์ (Bremelanotide) คือยาที่เหมาะสำหรับสตรีช่วงวัยหมดประจำเดือนที่มีความต้องการทางเพศต่ำ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ บางคนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยหลังใช้ยา เช่น อาเจียน ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า สำหรับผู้ชายอาจใช้เป็นยา Alprostadil ในรูปแบบฉีดหรือยาเหน็บในท่อปัสสาวะภายในองคชาติ เพื่อเสริมการแข็งตัวของอวัยวะเพศก่อนมีเพศสัมพันธ์ ในประเทศไทยยังไม่มีการรับรองจากองค์การอาหารและยา ให้จำหน่ายผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ยกเว้นผู้ที่มีใบอนุญาตใช้สำหรับรักษาทางการแพทย์ เช่น คุณหมอ เภสัชกรร้านขายยา การใช้ยาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากคุณหมอ
    • ยากลุ่ม PDE-5 Iinhibitors เช่น ไวอากร้า เลวิตร้า (Levitra) ใช้รักษาภาวะสมรรถภาพเสื่อมได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งควรได้รับการอนุญาตและอยู่ภายใต้การดูแลจากคุณหมอเท่านั้น
    • บำบัดด้วยฮอร์โมนแอนโดรนเจน เป็นฮอร์โมนเพศชายที่อาจช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 
    • เครื่องปั๊มอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นท่อยาว และมีที่ปั๊มด้วยมือหรืออาจใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เพื่อปั๊มดูดอากาศออกภายในท่อและดึงสุญญากาศเข้าสู่หลอดเลือดบริเวณองคชาต ทำให้องคชาตแข็งตัว
    • ผ่าตัดอวัยวะเพศชาย คุณหมออาจผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์เทียมที่ช่วยควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แต่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลังจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ
    • บำบัดด้วยนักจิตวิทยา หากมีภาวะซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล สามารถเข้ารับการบำบัด พูดคุยกับคุณหมอเพื่อร่วมกันรักษาสาเหตุที่ส่งผลให้สมรรถทางเพศเสื่อม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา