backup og meta

แต๊บ คือ อะไร มีขั้นตอนอย่างไร มีผลเสียหรือไม่

แต๊บ คือ อะไร มีขั้นตอนอย่างไร มีผลเสียหรือไม่

แต๊บ คือ การใช้อุปกรณ์บางอย่าง เช่น เทปกาว กางเกงในแบบกระชับ เพื่อซ่อนอวัยวะเพศชายไว้บริเวณช่องขาหนีบไม่ให้เห็นเด่นนูนออกมาเมื่อสวมเสื้อผ้าในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ เพื่อแต่งตัวให้ตัวเองดูคล้ายผู้หญิงจริง ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ การแต๊บอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เพราะทำให้ปัสสาวะลำบาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกหากติดเทปกาวแน่นจนเกินไป หากแต๊บแล้วเกิดอาการที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เช่น ปวดท้อง พบเลือดปนในปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

[embed-health-tool-bmi]

แต๊บ คือ อะไร

แต๊บ คือหนึ่งในวิธีการซ่อนองคชาตและอัณฑะไว้บริเวณหว่างขา เพื่อปกปิดความเป็นชาย อาจใช้เทปกาว หรือกางเกงในแบบรัดกระชับ เป็นที่นิยมกันมากในหมู่หญิงข้ามเพศ หรือเพศชายที่ต้องการแต่งตัวเป็นเพศหญิงแต่ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้ตนเองแต่งกายแล้วดูคล้ายเพศหญิงมากที่สุด

แต๊บ มีขั้นตอนอย่างไร

วิธีแต๊บ มีขั้นตอนคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

  • แปะองคชาตและถุงอัณฑะให้ติดกันด้วยเทปกาว
  • ดันองคชาตและถุงอัณฑะไปด้านหลัง หรือพื้นที่ว่างระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนัก จากนั้นปิดเทปกาวให้แน่นอีกครั้งโดยใช้เทปกาวแปะยึดติดกับบริเวณขาหนีบ
  • สวมกางเกงในที่แน่นกระชับ หรือกางเกงในที่เรียกว่ากาฟ (Gaffe) เพื่อป้องกันอวัยวะเพศชายเคลื่อนจากตำแหน่งที่ปิดเทปกาวไว้

นอกจากนี้ การแต๊บโดยไม่ใช้เทปกาวแต่สวมกางเกงในแบบกระชับ อาจมีขั้นตอนดังนี้

  • สวมกางเกงในที่แน่นกระชับ หรือกาฟ ค้างไว้บริเวณหัวเข่า
  • ใช้มือข้างหนึ่งดันองคชาตและถุงอัณฑะไปยังช่องขาหนีบ
  • ใช้มืออีกข้างดึงกางเกงในที่สวมค้างไว้บริเวณหัวเข่าขึ้นมาสวม ขณะที่มืออีกข้างหนึ่งยังประคององคชาตและถุงอัณฑะไว้
  • เมื่อมั่นใจว่าองคชาตและอัณฑะจะไม่เคลื่อนจากช่องขาหนีบ ค่อย ๆ ดึงมือข้างที่ประคององคชาตและถุงอัณฑะไว้ออกมา

ทั้งนี้ การแต๊บแบบไม่ใช้เทปกาวอาจทำให้อวัยวะเพศเคลื่อนจากตำแหน่งที่แต๊บไว้ แต่ข้อดีคือสะดวกเมื่อต้องการขับถ่าย รวมถึงผิวหนังไม่เสียหายจากการดึงเทปกาวออก

คำแนะนำในการแต๊บ

เพื่อช่วยให้การแต๊บได้ผลและส่งผลเสียต่อผิวหนังน้อยที่สุด อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ในช่วงแรก ๆ ผู้ที่ฝึกแต๊บควรแต๊บเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน และควรฝึกแต๊บเรื่อย ๆ จนกว่าจะชำนาญหรือทำได้อย่างคล่องแคล่ว
  • การแต๊บด้วยเทปกาว ไม่ควรปิดเทปกาวจนแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และไม่ควรใช้เทปกาวน้อยเกินไป เพราะอาจทำให้เทปกาวหลุดได้โดยเฉพาะเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว นอกจากนี้ ผู้ที่มีองคชาตใหญ่ ควรใช้เทปกาวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันองคชาตเคลื่อนจากช่องขาหนีบ
  • ควรแต๊บด้วยสปอร์ตเทป หรือเทปกาวที่ออกแบบมาเพื่อพยุงอวัยวะที่บาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา เนื่องจากเทปกาวชนิดนี้เป็นแบบใช้กับผิวหนังโดยเฉพาะ
  • การลอกเทปกาว ควรชโลมเทปกาวด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยให้เทปลอกง่ายขึ้น และไม่ทำให้ผิวหนังเสียหายขณะลอก
  • เมื่อลอกเทปกาวออกแล้ว ควรตรวจดูว่าผิวหนังได้รับความเสียหาย เป็นแผล หรือมีผื่นขึ้นหรือไม่ หากพบอาการดังกล่าว ควรพักการแต๊บจนกว่าผิวหนังจะฟื้นฟูกลับเป็นปกติ หากจำเป็นอาจเลือกแต๊บด้วยวิธีอื่น
  • ควรทาแป้งบริเวณที่แต๊บ เพื่อป้องกันการเสียดสีบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งอาจทำให้ผิวถลอกและเสี่ยงติดเชื้อได้
  • ในช่วงเวลาปกติที่ไม่ได้แต๊บ หากรู้สึกเจ็บหรือมีอาการชาบริเวณอวัยวะเพศ หรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง มีเลือดปนในปัสสาวะ หรือปัสสาวะแสบขัด ควรไปพบคุณหมอ

แต็บ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

สำหรับผู้ที่ต้องแต๊บบ่อยครั้ง การแต๊บอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพดังนี้

  • ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพราะการแต็บทำให้ปัสสาวะไม่สะดวก ผู้แต๊บจึงเลือกกลั้นปัสสาวะแทนที่จะขับถ่าย
  • อสุจิเสื่อมคุณภาพ การแต็บอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนและคุณภาพของอสุจิ เพราะขณะที่แต๊บ ถุงอัณฑะจะอยู่ติดร่างกาย ทำให้ไม่เกิดการขยายหรือหดตัวตามธรรมชาติ ส่งผลให้อุณหภูมิภายในอัณฑะขึ้นหรือลงผิดปกติและไม่เอื้อต่อการสร้างอสุจิ
  • เลือดไหลเวียนไม่สะดวก การแต็บด้วยเทปกาวจำนวนมาก หรือสวมกางเกงในที่รัดแน่นเกินไปเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและเกิดภาวะเลือดคั่งได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

BENEFITS OF TUCKING.
http://www.phsa.ca/transcarebc/Documents/HealthProf/Tucking-Handout.pdf. Accessed July 21, 2022

Urinary incontinence. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-incontinence/symptoms-causes/syc-20352808#:~:text=Urinary%20incontinence%20may%20also%20be,urinate%20and%2C%20sometimes%2C%20incontinence. Accessed July 21, 2022

Safe tucking. https://www.ohsu.edu/sites/default/files/2022-03/Gender-Clinic-Safe-Tucking-Handout.pdf. Accessed July 21, 2022

TUCKING. https://www.transhub.org.au/tucking. Accessed July 21, 2022

Tucking. https://en.wikipedia.org/wiki/Tucking. Accessed July 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

LGBTQ คืออะไร ข้อเท็จจริงและความเข้าใจผิด ๆ

LGBTQ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา