backup og meta

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ เหมือนกันไหม มีวิธีรักษาและการป้องกันอย่างไร

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ เหมือนกันไหม มีวิธีรักษาและการป้องกันอย่างไร

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ เหมือนกันไหม ? อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เนื่องจากทั้ง 2 โรค เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีอาการบางอย่างคล้ายกัน ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกออกได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาอาการรุนแรงและลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

[embed-health-tool-ovulation]

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ เหมือนกันไหม

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ ล้วนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งคู่ โดยโรคซิฟิลิสมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งผ่านทางบาดแผลและรอยถลอกตามผิวหนัง ส่วนโรคเอดส์มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ในระยะสุดท้าย ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อีกทั้งยังอาจได้รับผ่านทางการใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก และการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน

ทั้งโรคซิฟิลิสกับโรคเอดส์อาจใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการและอาจมีอาการบางอย่างคล้ายกัน เช่น แผลหรือผื่นที่เกิดขึ้นตามลำตัวหรือในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองบวม มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ น้ำหนักลดลง แต่มีความแตกต่างกันตรงที่โรคซิฟิลิสมักแสดงอาการตามระยะของโรค ดังนี้

  • ระยะที่ 1 อาจเกิดแผลเล็ก ๆ ในบริเวณที่ได้รับเชื้อ เรียกว่า แผลริมแข็ง ภายใน 3 สัปดาห์แรกหลังได้รับเชื้อ ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บใด ๆ
  • ระยะที่ 2 หลังจากแผลริมแข็งหาย อาจเริ่มมีอาการผื่นขึ้นตามตัว รวมถึงอาการตุ่มคล้ายหูดในบริเวณอวัยวะเพศและปาก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นไข้ ผมร่วง และต่อมน้ำเหลืองบวม
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะแฝงที่ไม่มีอาการใด ๆ โดยอาจใช้เวลานานหลายปีก่อนที่โรคจะพัฒนาไปสู่ระยะต่อไป
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้ายของโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นระยะที่โรคได้ทำลายส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจส่งผลให้กระดูกเสื่อม ข้อต่ออักเสบ เส้นประสาทเสียหาย การทำงานของหัวใจ หลอดเลือดและสมองล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ในขณะที่โรคเอดส์เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคปอดบวม วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในช่องคลอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งทวารหนัก มะเร็งปากมดลูก โรคตับ โรคไต และสมองเสื่อมขั้นรุนแรง

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ มีวิธีรักษาเหมือนกันไหม

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้

วิธีรักษาโรคซิฟิลิส

คุณหมออาจรักษาด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เช่น ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีดที่ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยพิจารณาตามระยะของโรคซิฟิลิส

สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยยาชนิดอื่น ๆ เช่น Ceftriaxone หรือ Erythromycin สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้เพนิซิลลิน อาจต้องเข้ารับการบำบัดด้วยเทคนิคดีเซนซิทิเซชั่น (Desensitization) ที่เป็นกระบวนการช่วยลดความไวต่อยาเพนิซิลลินก่อนจะให้กลับมาใช้ยาเพนิซิลลินดังเดิม เพราะยาเพนิซิลลินเป็นยารักษาโรคซิฟิลิสเพียงชนิดเดียวที่แนะนำให้ใช้กับสตรีตั้งครรภ์

วิธีรักษาโรคเอดส์

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอดส์ให้หายขาด แต่มีวิธีที่อาจช่วยควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs) เช่น โดราไวรีน (Doravirine) เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) ริวพิไวรีน (Rilpivirine) ที่ออกฤทธิ์โดยไปจับกับเอนไซม์และยับยั้งไม่ให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเอนไซม์
  • กลุ่มยาเอ็นอาร์ทีแอลไอ (NRTIs) เช่น ลามิวูดีน (Lamivudine) ไซโดวูดีน (Zidovudine) อบาคาเวียร์ (Abacavir) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine)  เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคเอดส์และลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากคุณแม่ไปสู่ทารกในครรภ์
  • เอชไอวีโปรตีเอสอินฮิบิเตอร์ (HIV Protease Inhibition) เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ดารูนาเวียร์ (Darunavir) เพื่อช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวีและลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส
  • อินทีเกรส (Integrase) เช่น ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อินทิเกรสที่อาจส่งผลให้ไวรัสสามารถแทรกเข้าไปในพันธุกรรม และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
  • เอชไอวีฟิวชันอินฮิบิเตอร์ (HIV Fusion Inhibitors) หรือสารยับยั้งการหลอมตัวของไวรัสเข้ากับเซลล์ เช่น เอ็นฟูเวอร์ไทด์ (Enfuvirtide) มาราไวรอค (Maraviroc) เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อเอชไอวีเกาะจับกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยลดอาการดื้อยา และป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวี

การป้องกันโรคซิฟิลิส กับ เอดส์

การป้องกันโรคซิฟิลิส กับ เอดส์ อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีแผลเปิดบริเวณอวัยวะเพศและโดยรอบ
  • ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายได้รับเชื้อที่นำไปสู่การเกิดโรคซิฟิลิสและโรคเอดส์
  • สำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตร ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคก่อนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • สตรีตั้งครรภ์ควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนดเพื่อตรวจคัดกรองโรคและตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์
  • การใช้ยาเพร็พ (PrEP) เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะรับเชื้อเอชไอวี
  • การใช้ยาเป็ป (PEP) อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว โดยควรรับยาเป็ปภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากเวลาที่คาดว่าอาจได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Syphilis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/syphilis/symptoms-causes/syc-20351756. Accessed November 08, 2022

Syphilis. https://www.webmd.com/sexual-conditions/syphilis#1. Accessed November 08, 2022

Syphilis. https://medlineplus.gov/syphilis.html. Accessed November 08, 2022

HIV/AIDS. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/symptoms-causes/syc-20373524. Accessed November 08, 2022

HIV/AIDS. https://www.cdc.gov/hiv/basics/whatishiv.html. Accessed November 08, 2022

Symptoms-HIV and AIDS. https://www.nhs.uk/conditions/hiv-and-aids/symptoms/. Accessed November 08, 2022

Penicillin V https://www.drugs.com/penicillin.html. Accessed November 08, 2022

Syphilis. https://www.cdc.gov/std/treatment-guidelines/syphilis.htm. Accessed November 08, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์ ประโยชน์ และข้อควรรู้ เพื่อให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หูดหงอนไก่ วิธีรักษา และอาการที่ควรระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา