backup og meta

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ จากการมีเพศสัมพันธ์

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ จากการมีเพศสัมพันธ์

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั้งในน้ำอสุจิและน้ำจากช่องคลอด สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดอาการข้ออักเสบ มีอาการของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและเยื่อบุตาอักเสบ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบาดเจ็บที่ผิวหนัง และเยื่อเมือกบุผิว

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ คืออะไร

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter’s Syndrome) หรือโรคข้ออักเสบรีแอคตีฟ (Reactive Arthritis) เป็นโรคในกลุ่มโรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบ (Spondyloarthropathy) ซึ่งถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรคข้ออักเสบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีเพียงอาการข้ออักเสบอย่างเดียว แต่อาจมีอาการของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายยังพบว่ามีรอยโรค (Lesions) หรืออาการบาดเจ็บที่ผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิว

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์จริงไหม

โรคข้ออักเสบไรเตอร์มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั้งในน้ำอสุจิและน้ำจากช่องคลอด สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้น หากทำกิจกรรมทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน หรือใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น ก็อาจเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างการติดเชื้อคลาไมเดีย และเสี่ยงเป็นโรคข้ออักเสบไรเตอร์

นอกจากจะมีสาเหตุมาจากเชื้อคลาไมเดียที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว โรคข้ออักเสบไรเตอร์ยังอาจติดต่อพร้อมกับการติดเชื้อแบคทีเรียในน้ำและอาหารที่บริโภคได้ด้วย เช่น

  • ซาลโมเนลลา (Salmonella)
  • แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter)
  • ชิเจลลา (Shigella)
  • เยอซิเนีย (Yersinia)
  • คลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile)

อาการของโรคข้ออักเสบไรเตอร์

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบไรเตอร์ ไม่ได้มีอาการแค่ที่ข้อต่อเท่านั้น แต่ยังอาจมีอาการที่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย ซึ่งสามารถสังเกตอาการของโรคข้ออักเสบไรเตอร์ได้ ดังนี้

อาการโรคข้ออักเสบ

  • ข้อต่ออักเสบ ปวดบวม โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่า ข้อเท้า และเท้า
  • ปวดตามจุดยึดเส้นเอ็น เช่น จุดยึดเอ็นใต้ฝ่าเท้า จุดยึดเอ็นร้อยหวาย (บริเวณส้นเท้า) จุดยึดเอ็นแถวกระดูกเชิงกราน
  • มีกระดูกงอกบริเวณส้นเท้า (จุดยึดเอ็นร้อยหวาย) ทำให้ปวดเรื้อรัง
  • กระดูกสันหลังอักเสบ
  • ปวดหลังส่วนล่าง และมีอาการข้อติดตอนเช้า (Morning Stiffness)

เวลาปวดมักจะปวดพร้อมกันหลายจุด อาการเป็น ๆ หาย ๆ เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา และมักมีอาการติดต่อกันนาน 1-4 เดือน

ระบบทางเดินปัสสาวะ

ผู้ชาย

  • ปัสสาวะเพิ่มขึ้น
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • อาจมีสารคัดหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศ โดยเฉพาะในช่วงเช้า
  • ต่อมลูกหมากอักเสบ ทำให้มีไข้ หนาวสั่น

ผู้หญิง

  • มีอาการอักเสบในระบบสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ ท่อนำไข่อักเสบ ปากช่องคลอดอักเสบ
  • ท่อปัสสาวะอักเสบ ทำให้ปัสสาวะแสบขัด

ผู้หญิงบางคนที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบไรเตอร์ อาจไม่แสดงอาการของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ดวงตา

  • ตาแดง
  • เจ็บตา ระคายเคืองตา
  • มองเห็นไม่ชัด
  • เยื่อบุตาอักเสบ
  • ม่านตาอักเสบ

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • ผิวหนังเป็นผื่น โดยเฉพาะที่ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า
  • มีแผลในปาก หรือแผลที่ลิ้น
  • น้ำหนักลด
  • เบื่ออาหาร
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • มีไข้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้ออักเสบไรเตอร์

แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคข้ออักเสบไรเตอร์นั้นสามารถพบได้ทั่วไป ไม่ว่าใครก็มีโอกาสได้รับเชื้อจนพัฒนาเป็นโรคนี้ได้ แต่จากสถิติพบว่า โรคนี้พบมากในกลุ่มผู้ชายวัย 20-40 ปี โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งถูกตรวจพบว่ามียีนที่เรียกว่า HLA-B27 อยู่ในร่างกาย และผู้ป่วยที่มียีนนี้มักมีอาการของโรคกำเริบเฉียบพลัน รุนแรง และเรื้อรังกว่าคนที่ไม่มียีนนี้ด้วย นั่นหมายความว่า ผู้ที่มียีน HLA-B27 อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้มากกว่า

แต่นอกจากคนกลุ่มนี้แล้ว ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำเนื่องจากติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะหากอยู่ในระยะเอดส์ ก็เสี่ยงเป็นโรคข้ออักเสบไรเตอร์ได้เช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยเอชไอวีที่มียีน HLA-B27 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 75% และหากคุณหมอตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคข้ออักเสบไรเตอร์ ก็อาจให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารด้วย

วิธีรักษาและป้องกันโรคข้ออักเสบไรเตอร์

การรักษาโรคข้ออักเสบไรเตอร์

การรักษาโรคข้ออักเสบไรเตอร์ คุณหมอจะต้องพิจารณาถึงอาการที่เป็น ว่ามีอาการอะไรบ้าง และอาการรุนแรงแค่ไหน รวมถึงอายุ และภาวะสุขภาพด้วย โดยวิธีรักษาโดยทั่วไป เช่น

  • ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ
  • ใช้ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drug หรือ NSAID) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดอาการอักเสบ
  • ใช้ยายากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive drug) เช่น เมโธเทรกเซท (Methotrexate) เพื่อควบคุมอาการอักเสบ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อ ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานดีขึ้น

วิธีป้องกันโรคข้ออักเสบไรเตอร์

  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น แผ่นยางอนามัย ถุงยางอนามัย ทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมทางเพศ
  • มีความสัมพันธ์กับคู่เพียงคนเดียว หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ความสัมพันธ์แบบผัวเดียว-เมียเดียว (Monogamous Relationship)
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากเคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร หรือกินอาหาร
  • กินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถูกหลักอนามัย

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Reiter syndrome. https://dermnetnz.org/topics/reiter-syndrome/. Accessed January 6, 2020

Reactive Arthritis (Reiter’s Syndrome). https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions/r/reactive-arthritis-reiters-syndrome.html. Accessed January 6, 2020

Reiter’s syndrome in male sexual partners of females with Reiter’s syndrome or suspicion of it. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/6678195. Accessed January 6, 2020

Reiter’s Syndrome. https://www.winchesterhospital.org/health-library/article?id=22626. Accessed January 6, 2020

Reactive Arthritis (Reiter’s Syndrome). https://stanfordhealthcare.org/medical-conditions/bones-joints-and-muscles/reactive-arthritis.html. Accessed January 6, 2020

Reiter’s Syndrome. http://www.archivesofmedicine.com/medicine/reiters-syndrome.pdf. Accessed January 6, 2020

Reactive arthritis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/reactive-arthritis/symptoms-causes/syc-20354838. Accessed January 6, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/06/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาทาหูดหงอนไก่ ใช้ยาชนิดไหน วิธีรักษาหูดหงอนไก่

คุณแม่ตั้งครรภ์ ไวรัสซิก้า ภัยร้ายที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา