โรคเริมที่อวัยวะเพศ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก ผู้ที่เป็นโรคเริมอาจรับประทานยาปฏิชีวนะหรือใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าหากอาการรุนแรง เช่น เจ็บหรือปวดแผล มีไข้ ควรไปพบคุณหมอและรับการรักษาตามขั้นตอน
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
โรคเริมที่อวัยวะเพศ คืออะไร
โรคเริมที่อวัยวะเพศ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ HSV-1 และ HSV-2 โดยทั้ง 2 ชนิดสามารถส่งผลต่ออวัยวะเพศได้ แต่ส่วนมากโรคเริมที่อวัยวะเพศมักเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด HSV-2 และเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ โรคเริมที่อวัยวะเพศอาจทำให้เกิดอาการปวด คัน มีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น
โรคเริมที่อวัยวะเพศพบบ่อยแค่ไหน
โรคเริมที่อวัยวะเพศสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย มักพบในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกิจกรรมทางเพศเป็นประจำ
อาการ
อาการของโรคเริมที่อวัยวะเพศ
โรคเริมที่อวัยวะเพศอาจมีอาการดังนี้
- ตุ่มพองเล็ก ๆ หรือตุ่มน้ำใสบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ต้นขา ก้น เป็นต้น
- คันอวัยวะเพศ
- มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ มีไข้
- ปวดหรือแสบเวลาปัสสาวะ
- ตกขาวผิดปกติ หรือมีกลิ่น
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส HSV อาจจะยังไม่มีอาการปรากฏทันที แต่มักมีอาการปรากฏหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 2-12 วัน หรือในบางกรณีอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีถึงจะแสดงอาการ หรืออาการอาจปรากฏเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น เครียด ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ พักผ่อนน้อย
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากมีอาการแสบร้อน คันบริเวณอวัยวะเพศ และมีไข้ หรือกังวลว่าอาจเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุ
สาเหตุของโรคเริมที่อวัยวะเพศ
โรคเริมที่อวัยวะเพศเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่
- HSV-1 มักทำให้เกิดโรคเริมที่ปาก ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนัง และสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะเพศได้หากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
- HSV-2 มักทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ โดยไวรัสจะแพร่กระจายจากการมีเพศสัมพันธ์และสัมผัสผิวหนัง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเริมที่อวัยวะเพศ
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ เช่น
- ผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากไวรัสติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์จากผู้ชายสู่ผู้หญิงได้ง่ายกว่าจากผู้หญิงสู่ผู้ชาย
- มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- สัมผัสผิวหนัง หรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น น้ำลาย อสุจิ น้ำเหลือง
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ
โรคเริมที่อวัยวะเพศอาจวินิจฉัยได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การตรวจร่างกาย คุณหมอจะตรวจสอบแผลหรือตุ่มน้ำใสบริเวณอวัยวะเพศ
- การตรวจเลือด คุณหมอจะเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดี หรือภูมิต้านทานโรคเริม
- การตรวจชิ้นเนื้อ คุณหมอจะขูดเนื้อเยื่อจากแผลหรือตุ่มน้ำ เพื่อตรวจหาโรค
การรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศให้หายขาด แต่วิธีรักษาดังต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการได้
- รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ฟามซิโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) อาจช่วยลดความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
- ยาทาภายนอก เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) อาจช่วยลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็วขึ้น รวมถึงอาจช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- ใช้น้ำเกลือล้างแผล เช็ดทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศรอบนอก เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วเช็ดให้แห้ง
ทั้งนี้ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบว่าเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ คุณหมอจะได้แนะนำวิธีคลอดที่ช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะติดเชื้อเริมจากแม่ในระหว่างคลอด เช่น การผ่าคลอด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย และสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า แก้วน้ำ
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
หากติดเชื้อไวรัสโรคเริมแล้ว และเพื่อไม่ให้อาการกำเริบอีกครั้งควรปฏิบัติดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามไม่เครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ
- ใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอ