Sebaceous cyst หรือ ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง คือ ก้อนนูนใต้ผิวหนังที่เกิดจากรูขุมขนอุดตันเนื่องจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมากเกินไป ส่งผลให้ไขมันสะสมใต้ผิวหนัง ที่อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสับสนระหว่างซีสต์กับฝีได้เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกัน ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาโดยคุณหมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ กำจัดก้อนนูน และทำให้ผิวกลับมาเรียบเนียน
[embed-health-tool-bmi]
Sebaceous cyst คืออะไร
Sebaceous cyst คือ ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นก้อนนูน มีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่ว ไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่พบได้บ่อยในบริเวณใบหน้า ลำคอ หนังศีรษะ หลัง และลำตัว
ซีสต์อาจไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย และมักจะไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่หากติดเชื้อหรืออักเสบ อาจทำให้มีอาการปวด มีหนอง ผิวหนังแดงบวม รู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัส มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิดฝีได้
สาเหตุของ Sebaceous cyst
ซีสต์มีสาเหตุมาจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากจนเกินไป ทำให้รูขุมขนเสียหายและเกิดการอุดตัน จนน้ำมันส่วนเกินสะสมอยู่ใต้ผิวหนังก่อตัวเป็นก้อนนูนขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากท่อไขมันผิดรูปแต่กำเนิด เซลล์หรือต่อมไขมันได้รับความเสียหายในระหว่างผ่าตัด และภาวะทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการการ์ดเนอร์ (Gardner Syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่อาจทำให้มีติ่งเนื้อในลำไส้ เนื้องอกในกระดูก และซีสต์ที่ผิวหนัง
การวินิจฉัย Sebaceous cyst
หากสังเกตพบก้อนนูนบนผิวหนัง ควรเข้ารับการวินิจฉัยทันที เนื่องจาก ซีสต์มีลักษณะคล้ายกับฝี หรือก้อนมะเร็ง โดยคุณหมออาจทำการวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- อัลตราซาวนด์ อาจช่วยให้ทราบว่าซีสต์ที่อุดตันใต้ผิวหนังมีขนาดเล็กหรือใหญ่ และใช้เพื่อช่วยประเมินวิธีการรักษาลำดับถัดไปได้อย่างเหมาะสม
- เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนัง คุณหมออาจเจาะซีสต์เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อนำไปวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจคัดกรองว่าเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งหรือไม่
วิธีรักษา Sebaceous cyst
วิธีรักษาซีสต์อาจทำได้ดังนี้
ผ่าตัด
เป็นวิธีกำจัดซีสต์ออกได้เร็วที่สุด โดยการระบายของเหลวที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังออก การผ่าตัดซีสต์มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
- การผ่าตัดแบบแผลใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่มี ซีสต์ขนาดใหญ่ ที่อาจจำเป็นต้องกรีดผิวหนังยาวหรือกว้างตามขนาดของซีสต์หรือกว้างกว่า เพื่อกำจัดซีสต์ออกทั้งหมด ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
- การผ่าตัดแบบแผลเล็ก เหมาะสำหรับผู้ที่มีซีสต์ขนาดเล็ก โดยคุณหมอจะทำการกรีดหรือเจาะผิวหนังเป็นรู แล้วค่อย ๆ บีบระบายของเหลวออก ทำให้แผลมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบแผลใหญ่ แต่ก็อาจมีแนวโน้มในการกลับมาเป็นซ้ำได้
ฉีดยาสเตียรอยด์
คุณหมออาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในซีสต์โดยตรง เพื่อลดอาการบวมและอาการอักเสบ และช่วยลดขนาดซีสต์ให้เล็กลง
เลเซอร์
คุณหมออาจใช้แสงเลเซอร์ที่มีความเข้มข้นสูงเปิดให้ผิวหนังเป็นรูขนาดเล็ก และทำการบีบซีสต์เพื่อระบายของเหลวที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังออก
การดูแลตัวเองเมื่อเป็น Sebaceous cyst
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นซีสต์มีดังนี้
- ไม่บีบ หรือเจาะระบายของเหลวในซีสต์ออกเอง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการอักเสบได้
- รักษาความสะอาดด้วยการอาบน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกาย หรือเมื่อมีเหงื่อมาก และควรเลือกใช้สบู่สูตรอ่อนโยนต่อผิว
- นำผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบบริเวณที่เป็นซีสต์วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที เพื่อช่วยลดอาการบวม และช่วยให้ของเหลวระบายออกได้เอง
- ใช้หรือรับประทานยาตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ช่วยลดการอักเสบและอาการบวม