เชื้อราที่หนังศีรษะ หรือกลากที่หนังศีรษะ หรือชันนะตุ เป็นอาการที่เชื้อรากระจายอยู่ตามรูขุมขุนบนหนังศีรษะ เกิดขุยเหมือนรังแค ผื่นรูปวงแหวน ผมร่วง และมีอาการแสบคันบริเวณหนังศีรษะ ทั้งนี้ อาจรักษาได้ด้วยการใช้แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของยา ร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อรา
อาการของการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ
เมื่อติดเชื้อราที่หนังศีรษะ อาการที่พบได้บ่อยคือ มีผื่นวงแหวนบริเวณหนังศีรษะ ผิวหนังตกสะเก็ด มีอาการคันและเจ็บที่หนังศีรษะ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จนเห็นหนังศีรษะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจพบก้อนนูนมีหนองบนศีรษะ
เชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรค สามารถแพร่กระจายได้หลายช่องทางและก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคกลากที่หนังศีรษะ ได้แก่
- จากคนสู่คน จากการสัมผัสร่างกายโดยตรงโดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือเด็กวัยเรียนที่เล่นด้วยกัน เช่น จับมือ กอด
- จากสัตว์สู่คน การเล่นกับสัตว์เลี้ยง การสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง อาทิ สุนัข แมว แพะ หมู ม้า
- จากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี แปรง ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน
การรักษาเชื้อราที่หนังศีรษะ
การรักษาเชื้อราที่หนังศีรษะที่พบได้ทั่วไป คือ
- รับประทานยาต้านเชื้อรา เช่น กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin)โดยคุณหมอมักให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) คุณหมอจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยรับประทานอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 สัปดาห์
- ใช้แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของยา ซึ่งมีสารคีโตโคนาโซล (ketoconazole) หรือ ซีเลเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) อย่างไรก็ตาม ยาสระผมที่มีส่วนผสมของยาไม่สามารถกำจัดเชื้อราที่หนังศีรษะได้ทั้งหมด จึงอาจจำเป็นต้องรับประทานยาต้านเชื้อราร่วมด้วย
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
เมื่อพบอาการของโรคหรืออาการที่บ่งชี้ว่าเป็นเชื้อราที่หนังศีรษะ เช่น ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ มีผื่นแดง คันหนังศีรษะ หนังศีรษะลอก ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัย เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่ตรงกับสาเหตุของโรค และหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเองหรือซื้อครีมมาใช้เอง เพราะอาจไม่ใช่ยาสำหรับโรคนั้นโดยตรงจึงไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นหรือทำให้อาการแย่ลงได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ
วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดโอกาสในการเกิดเชื้อราที่หนังศีรษะ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น อาทิ หวี หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว เนื่องจากอาจมีละอองของเชื้อราอยู่ ทั้งนี้ ควรทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวรวมทั้งที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อรา
- สระผมเป็นประจำ เพื่อล้างละอองเชื้อราที่อาจติดอยู่บนหนังศีรษะหรือเส้นผมออก และควรเป่าผมให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา
- นำสัตว์เลี้ยงไปตรวจโรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าอาจเป็นพาหะของเชื้อรา หรือเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการคันหรือเกามากกว่าปกติ
- ตรวจหนังศีรษะทั้งครอบครัว เมื่อพบสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อราที่หนังศีรษะ เนื่องจากเชื้อราที่หนังศีรษะติดต่อกันได้ง่าย ถึงแม้ไม่มีอาการ แต่โรคอาจกำลังอยู่ในระยะฟักตัว
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเชื้อราที่หนังศีรษะ
ความเข้าใจผิดที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้
- เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดโรคกลากที่หนังศีรษะและแสดงอาการทันที ความจริงแล้ว อาการของโรคกลากที่หนังศีรษะจะแสดงให้เห็นชัดเจนหลังจากได้รับเชื้อรามาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคกลากที่บริเวณอื่นของร่างกาย อาจแสดงภายใน 2-3 วัน
- หนังศีรษะลอกคือรังแค ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ ความจริงแล้ว การติดเชื้อราที่หนังศีรษะทำให้หนังศีรษะลอก มีลักษณะคล้ายรังแคได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยว่าเป็นรังแคธรรมดาหรือติดเชื้อกลาก
- เชื้อราที่หนังศีรษะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังเท่านั้น ความจริงแล้ว นอกจากหนังศีรษะและผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เชื้อรายังก่อให้เกิดโรคกลากบริเวณเล็บมือและเล็บเท้าได้
- เมื่อเคยเป็นโรคกลากแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก ความจริงแล้วโรคกลากที่หนังศีรษะสามารถเป็นซ้ำได้ เนื่องจากเป็นโรคจากการติดเชื้อ หากได้รับเชื้อใหม่อีกครั้ง ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก