backup og meta

7 วิธีดูแลผิวหน้า แบบธรรมชาติ ทำได้อย่างไรบ้าง

7 วิธีดูแลผิวหน้า แบบธรรมชาติ ทำได้อย่างไรบ้าง

วิธีดูแลผิวหน้า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เพื่อรักษาสภาพผิวบริเวณใบหน้า จมูก คาง แก้ม หน้าผากให้สะอาดและชุ่มชื้น ป้องกันการเป็นสิว จุดด่างดำหรือริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคมหรือพบเจอกับคนหมู่มาก ทั้งนี้ วิธีดูแลผิวหน้า แบบธรรมชาติและไม่ยุ่งยากมีหลายวิธี เช่น การทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน การล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง การทาครีมชุ่มชื้นเป็นประจำ การดื่มน้ำมาก ๆ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การลดความเครียด

[embed-health-tool-ovulation]

ดูแลผิวหน้า ป้องกันปัญหาอะไรได้บ้าง

หากรู้จักดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธี อาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพผิวต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • ป้องกันการเกิดสิว สิวเป็นตุ่มสีแดงที่พบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงใบหน้า ซึ่งมีทั้งสิวชนิดมีหัว เช่น สิวหัวช้าง สิวอักเสบ และสิวชนิดไม่มีหัว เช่น สิวเสี้ยน สิวไต ซึ่งมักเกิดจากรูขุมขนอุดตันจากน้ำมันบนใบหน้าและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) คูติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterium Acnes)
  • ป้องกันริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่น ริ้วรอยต่าง ๆ เป็นลักษณะของผิวหนังที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายผลิตคอลลาเจนได้น้อยลงทำให้ผิวหนังขาดความยืดหยุ่นจนเกิดการหย่อนคล้อย นอกจากนี้ การเผชิญหน้ากับแสงแดดและการสูบบุหรี่ยังเร่งให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควรได้
  • ป้องกันฝ้า ฝ้ามีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นสีดำหรือน้ำตาลที่มักปรากฏบริเวณใบหน้า ตามสันจมูก แก้ม หน้าผาก คาง และเหนือริมฝีปากบน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเล็ตในแสงแดดมากเกินไปจนกระตุ้นผิวหนังให้ผลิตเซลล์เม็ดสีผิวมากกว่าปกติ
  • ป้องกันผิวแห้ง ผิวแห้งมีสาเหตุจากผิวหน้าขาดความชุ่มชื้น ทำให้ผิวลอก ผิวตกสะเก็ด คัน และสีผิวไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผิวแห้งนั้นมีหลายประการ ได้แก่ ความร้อน สภาพอากาศ วัย การอาบน้ำร้อน การเช็ดหน้าบ่อยเกินไป

วิธีดูแลผิวหน้า แบบธรรมชาติ ที่ทุกคนทำได้

วิธีการดูแลสุขภาพผิวหน้าง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ มีดังนี้

  1. ปกป้องผิวหน้าจากแสงแดด รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของอนุมูลอิสระในผิวหนัง ซึ่งทำให้ผิวหน้าเสียหาย และมีริ้วรอยก่อนวัยอันควร ดังนั้น จึงควรปกป้องผิวหน้าจากแสงแดดหากต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น สวมหมวกปีกกว้าง เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงแดดจัดทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านและทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวหน้าอย่างต่อเนื่อง
  2. ดื่มน้ำปริมาณมาก การดื่มน้ำมีประโยชน์ในการคงความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นให้ผิวหนัง ช่วยลดโอกาสเกิดริ้วรอยต่าง ๆ หรือแผลเป็นจากสิว งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องผลลัพธ์ของการดื่มน้ำต่อผิวหนังมนุษย์ เผยแพร่ในวารสาร Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยได้แบ่งผู้หญิงจำนวน 49 รายที่เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 บริโภคน้ำน้อยกว่า 3,200 มิลลิลิตร/วัน ส่วนกลุ่มที่ 2 บริโภคน้ำมากกว่า 3,200 มิลลิลิตร/วัน เป็นเวลา 1 เดือนเท่า ๆ กัน แล้วเปรียบเทียบสภาพผิวหนัง เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง ได้ผลสรุปว่า การดื่มน้ำปริมาณมาก อาจช่วยให้สภาพผิวหนังมีสุขภาพดีขึ้น
  3. นอนหลับให้เพียงพอ ร่างกายของมนุษย์จะสร้างคอลลาเจนขณะที่ร่างกายนอนหลับ ดังนั้น การนอนหลับพัก่อนให้เพียงพอ หรืออย่างน้อย 7 ชั่วโมง/คืน จึงอาจช่วยให้ผิวหน้าเต่งตึงและยืดหยุ่น ในขณะที่การนอนน้อยกว่านั้น เช่น 5 ชั่วโมง/คืน มักเพิ่มโอกาสให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้าเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการนอน 7 ชั่วโมง/คืน
  4. ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดน้ำมันบนใบหน้าที่อาจไปอุดตันรูขุมขนร่วมกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและก่อให้เกิดสิว แต่หากล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้งอาจทำให้ผิวหน้าแห้งลง และส่งผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า จึงทำให้มีโอกาสเป็นสิวมากขึ้น
  5. รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงผิว อย่างส้ม มะนาว มะละกอ ฝรั่ง บร็อคโคลี มันฝรั่ง พริก ที่ล้วนแต่อุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจน ช่วยลดเลือนริ้วรอย และป้องกันผิวหนังเสียหายจากรังสีอัลตราไวโอเลต งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับสารอาหารที่บริโภคและการเสื่อมสภาพของผิวหนัง ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ปี พ.ศ. 2550 นักวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารที่ผู้หญิงจำนวน 4,025 คนบริโภค ต่อสภาพผิวหนัง และพบข้อสรุปว่า การบริโภควิตามินซีสัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยที่น้อยลง
  6. งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้สุขภาพผิวแย่ลง เนื่องจากสารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ ออกฤทธิ์ให้หลอดเลือดตีบแคบและส่งผลให้ผิวหน้าได้รับออกซิเจนและสารอาหารจากเลือดได้น้อยกว่าปกติ นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ยังทำลายโปรตีนคอลลาเจนและอิลาสตินซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยคงความยืดหยุ่นและชุ่มชื้นของผิวหนัง ดังนั้น หากสูบบุหรี่จึงอาจทำให้ผิวหน้าหย่อนคล้อย เป็นริ้วรอย แลดูแก่กว่าวัย
  7. จัดการความเครียด ด้วยการทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เนื่องจากความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิวซึ่งเป็นอยู่แล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือมีอาการแย่ลง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับปัจจัยที่งมีอิทธิพลต่อการเกิดสิว ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Public Health ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ความเครียดอาจส่งผลกระทบทำให้สิวรุนแรงขึ้นได้ เช่นเดียวกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดสิวทั้งภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน การมีผิวมัน รอบเดือนที่ไม่ปกติ การบริโภคน้ำตาล และการสูบบุหรี่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dietary water affects human skin hydration and biomechanics. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4529263/. Accessed September 15, 2022

The Truth About Beauty Sleep. https://www.webmd.com/beauty/features/beauty-sleep#:~:text=Skin%20makes%20new%20collagen%20when,lines%20as%20sleeping%207%20would. Accessed September 15, 2022

Wrinkles. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/wrinkles. Accessed September 15, 2022

Skin care: 5 tips for healthy skin. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/skin-care/art-20048237. Accessed September 15, 2022

Is it true that smoking causes wrinkles?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/quit-smoking/expert-answers/smoking/faq-20058153#:~:text=Nicotine%2C%20other%20chemicals%20in%20cigarettes,and%20nutrients%20to%20skin%20cells. Accessed September 15, 2022

Ultraviolet (UV) Radiation. https://www.cancer.org/healthy/cancer-causes/radiation-exposure/uv-radiation.html#:~:text=Exposure%20to%20UV%20rays%20can,to%20become%20inflamed%20or%20burned. Accessed September 15, 2022

Dietary nutrient intakes and skin-aging appearance among middle-aged American women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17921406/. Accessed September 15, 2022

A Review of Advancement on Influencing Factors of Acne: An Emphasis on Environment Characteristics. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7527424/. Accessed September 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/02/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

หน้ามันเกิดจากอะไร ควรดูแลผิวหน้าอย่างไร

รักษาหลุมสิว เพื่อผิวหน้าที่เรียบเนียน ทำอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา