ขนดก เป็นอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเป็นภาวะที่ร่างกายมีขนงอกออกมามากกว่าปกติ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือมีการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป โดยขนที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะแห้ง หยาบ แข็งและดำสนิท อาจพบได้มากบริเวณคาง หน้าอก หน้าท้องและหลัง ซึ่งขนดกอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและอาจทำให้เสียความมั่นใจได้
[embed-health-tool-heart-rate]
ขนดก เกิดจากอะไร
ขนดก (Hirsutism) เป็นอาการขนขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ มากเกินไปโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาขนดก ดังนี้
- ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) มากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ชายที่ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนมากกว่าผู้หญิง หรือในผู้หญิงที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงหรือรูขุมขนไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้อาจเร่งการเจริญเติบโตของขน ทำให้ขนดกมากขึ้น
- กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในผู้หญิง ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป จนอาจทำให้ผู้หญิงมีอาการขนดก
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s Syndrome) เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อการกระตุ้นระบบในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเส้นผม ขน ผิวหนัง เล็บ และเส้นประสาท จึงอาจทำให้มีอาการขนดกได้
- วัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน อาจกระตุ้นให้ขนบริเวณใบหน้าเพิ่มขึ้นและอาจทำให้มีหนวดเคราได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น อนาบอลิก สเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) ดานาซอล (Danazol) เฟนิโทอิน (Phenytoin) อาจทำให้เกิดอาการขนดก
- ความผิดปกติของต่อมหมวกไตหรือความผิดปกติของรังไข่ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนที่ผิดปกติซึ่งอาจทำให้ขนดกได้
อาการขนดก
อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการมีขนดกที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
- เสียงทุ้มลึกกว่าปกติ
- ขนาดเต้านมเล็กลง
- กล้ามเนื้อขยายใหญ่มากขึ้น
- คลิตอริสขยายใหญ่ขึ้น
- ความต้องการทางเพศมากขึ้น
- สิวเพิ่มขึ้น
การรักษาขนดก
ขนดกจำเป็นจะต้องรักษาสาเหตุหลักของอาการ ซึ่งอาจรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
การลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักอาจช่วยปรับปรุงสุขภาพและความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย อาจช่วยลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนและหยุดการเจริญเติบโตของเส้นขนที่มากเกินไป
การรักษาด้วยยา
- ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนคุมกำเนิดอื่น ๆ ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน อาจช่วยรักษาอาการขนดกที่เกิดจากการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป แต่อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน
- ยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน เป็นยาที่ช่วยต้านการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายจึงอาจช่วยลดการเกิดขนดก ซึ่งอาจต้องทำการรักษาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะเห็นผล และอาจมีผลข้างเคียง เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ยาทาเฉพาะที่ เช่น อีฟลอร์นิทีน (Eflornithine) เป็นครีมสำหรับรักษาขนดกที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าที่ขึ้นเยอะเกินไปในผู้หญิง ซึ่งอาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเส้นขนใหม่แต่ไม่สามารถกำจัดเส้นขนที่มีอยู่ได้ โดยทาใบหน้าบริเวณที่มีขนดกวันละ 2 ครั้ง โดยอาจรักษาร่วมกับการทำเลเซอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขน