backup og meta

ครีมลดฝ้า ควรมีส่วนผสมอะไร และควรดูแลผิวอย่างไรเมื่อเป็นฝ้า

ครีมลดฝ้า ควรมีส่วนผสมอะไร และควรดูแลผิวอย่างไรเมื่อเป็นฝ้า

ฝ้า (Melasma) เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากผิวหนังผลิตเม็ดสีหรือเมลานินมากเกินไป จนส่งผลให้ผิวหนังเป็นปื้นสีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม หรือดำ โดยเฉพาะในบริเวณที่สัมผัสแสงแดดมาก ๆ เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม ส่วนใหญ่รักษาได้ด้วยการใช้ ครีมลดฝ้า ที่มีส่วนผสมช่วยผลัดเซลล์ผิว ชะลอการสร้างเม็ดสี ลดเลือนจุดด่างดำ และทำให้ผิวดูสม่ำเสมอขึ้น เช่น กรดอะซีลาอิก กรดโคจิก นอกจากนี้ การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดฝ้าก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปเมื่อต้องออกแดด และสวมหมวกเพื่อบังแดด โดยเฉพาะในวันที่แดดจัด

[embed-health-tool-bmi]

ฝ้าเกิดจากอะไร

ฝ้าเป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นปื้นสีคล้ำกว่าผิวหนังบริเวณอื่น เช่น สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม สีดำ เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังผลิตเม็ดสีหรือเมลานินมากเกินไป มักพบบนผิวหนังบริเวณที่สัมผัสแสงแดดเป็นประจำอย่างหน้าผาก แก้ม จมูก ริมฝีปากบน กรอบหน้า คาง และตามแขน ขา ทั้งยังพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยกลางคน อาจเกิดจากรังสียูวีเอและยูวีบีในแสงแดด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ การใช้ยาคุมกำเนิด ยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง เครื่องสำอาง ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นต้น

ส่วนผสมที่ควรมีใน ครีมลดฝ้า

การใช้ ครีมลดฝ้า ที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้ อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวและลดเลือนรอยด่างดำบนใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างไปตามสภาพผิวของแต่ละคน

  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นสารที่ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเมลานินใหม่ อาจช่วยปรับสีผิวให้สว่างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ผิวหนังสร้างเม็ดสีมากเกินไปจนเกิดรอยด่างดำ อาจใช้ร่วมกับเรตินอยด์ชนิดทาเฉพาะที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการระคายเคืองผิว ทั้งนี้ ควรใช้ครีมลดฝ้าที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนภายใต้การดูแลของคุณหมอเท่านั้น ไม่ควรซื้อมาใช้เอง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง
  • เตรทติโนอิน (Tretinoin) ความเข้มข้น 0.1 % ช่วยลดการสร้างเม็ดสีของผิวชั้นนอก แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจน โดยทั่วไปจะไม่ใช้เป็นยารักษาหลักเพียงอย่างเดียว นิยมใช้ควบคู่กับยารักษาฝ้าอื่น ๆ เช่น ไฮโดรควิโนนความเข้มข้น 4% ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ
  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) ในรูปแบบครีม ความเข้มข้น 20% เป็นกรดธรรมชาติที่ช่วยลดการผลิตเม็ดสีผิวและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังที่มีสีคล้ำผิดปกติ อาจใช้ร่วมกับไฮโดรควิโนน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ
  • กรดโคจิก (Kojic acid) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติ ครีมลดฝ้าที่มีกรดโคจิกมีระดับความเข้มข้น 1-4% อาจใช้ร่วมกับไฮโดรควิโนน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ

ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้ครีมลดฝ้า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

วิธีอื่น ๆ ในการรักษาฝ้า

นอกจากการใช้ครีมลดฝ้าแล้ว วิธีต่อไปนี้ก็อาจช่วยรักษาฝ้าได้

  • การรับประทานยารักษาฝ้า เช่น กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic acid) ใช้ในกรณีที่เป็นฝ้ารุนแรง ยาจะช่วยลดกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวที่คล้ำกว่าปกติ ปรับให้สีผิวดูสม่ำเสมอมากขึ้น ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือด
  • การผลัดเซลล์ผิว (Chemical peels) ด้วยสารที่ออกฤทธิ์ช่วยผลัดเซลล์ผิวและกระตุ้นการเซลล์ผิวใหม่อย่างกรดไกลโคลิก (Glycolic acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHAs) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) หรือที่เรียกว่ากรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta Hydroxy Acid หรือ BHAs) อาจช่วยขจัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่มีเม็ดสีผิดปกติได้ ทั้งนี้ การผลัดเซลล์ผิวอาจช่วยลอกเซลล์ผิวชั้นบน ๆ ไม่ได้ช่วยลดการผลิตเม็ดสีในผิวหนังชั้นในลึกลงไป ผิวหนังชั้นลึกจึงยังอาจผลิตเม็ดสีที่คล้ำกว่าปกติขึ้นมาใหม่ได้
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser therapy) การใช้เลเซอร์ เช่น เลเซอร์ดูอัลเยลโล (Dual Yellow Laser) เลเซอร์คิวสวิทช์ (Q-Switch Laser) และพิโคเลเซอร์ (Pico laser) ถือเป็นทางเลือกการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ ควรทำโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

วิธีดูแลผิวอย่างเหมาะสมเมื่อเป็นฝ้า

การดูแลผิวเมื่อเป็นฝ้า อาจทำได้ดังนี้

  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกครั้งที่ออกแดด และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ควรเลือกที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และมีค่า PA เพื่อให้ป้องกันได้ทั้งรังสี UVA ที่อาจทำให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ และรังสี UVB ที่ทำให้ผิวไหม้แดดและทำลายดีเอ็นเอใต้ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดโดยตรง สวมหมวกและเสื้อแขนยาวเมื่อต้องออกไปข้างนอกเป็นเวลานานในวันที่แดดจัด
  • หากสาเหตุของการเกิดฝ้ามาจากการคุมกำเนิด ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นที่ไม่ทำให้เกิดฝ้าบนผิวหน้า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

MELASMA: DIAGNOSIS AND TREATMENT. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/melasma-treatment. Accessed October 21, 2022

TOPICAL TREATMENT OF MELASMA. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2807702/. Accessed October 21, 2022

Hydroquinone. https://dermnetnz.org/topics/hydroquinone. Accessed October 21, 2022

How to Fight Dark Spots on Your Skin. https://www.webmd.com/beauty/features/dark-spots-skin-hyperpigmentation. Accessed October 21, 2022

Melasma: What are the best treatments?. https://www.health.harvard.edu/blog/melasma-what-are-the-best-treatments-202207112776#. Accessed October 21, 2022

Melasma. https://dermnetnz.org/topics/melasma. Accessed October 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ครีมรักษาฝ้า ควรมีส่วนผสมอะไรบ้างที่ปลอดภัย

ครีมทาฝ้า ประกอบด้วยตัวยาอะไร และควรทาครีมตอนไหน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา