เจาะจมูก เป็นการใช้อุปกรณ์เฉพาะเจาะลงบนผิวหนังบริเวณปีกจมูกและใส่เครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นห่วง หมุด หรือตุ้มลงไปบนผิวหนัง การเจาะจมูกอาจทำให้มีเลือดออก ผิวหนังบวมและแดง หากอุปกรณ์เจาะไม่ได้คุณภาพหรือรักษาความสะอาดได้ไม่ดีอาจทำให้แผลติดเชื้อ เส้นประสาทเสียหายหรือเกิดแผลเป็นนูนได้ ก่อนเจาะจมูกจึงควรศึกษาถึงวิธีดูแลตนเอง ความเสี่ยงสุขภาพ และข้อมูลเกี่ยวกับร้านเจาะที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพและผิวหนัง
[embed-health-tool-bmi]
เจาะจมูก คืออะไร
เจาะจมูก คือ การใช้อุปกรณ์เฉพาะเจาะลงบนผิวหนังบริเวณจมูกและใส่เครื่องประดับเข้าไปเพื่อเพิ่มความสวยงาม เมื่อแผลบริเวณที่เจาะหายดีบางคนอาจขยายขนาดรูเพื่อสวมใส่เครื่องประดับบางประเภทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ การขยายขนาดรูควรค่อย ๆ ทำทีละน้อยเพื่อไม่ให้แผลฉีกขาดและเกิดแผลเป็น
สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคเบาหวาน โรคฮีโมฟีเลีย โรคภูมิแพ้ตัวเอง ปัญหาหัวใจ ปัญหาผิวหนังหรือการติดเชื้อที่จมูก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรเจาะจมูกเนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้
เจาะจมูก และความเสี่ยงต่อสุขภาพ
การเจาะจมูกอาจเพิ่มความเสียหายให้กับผิวหนังและอาจเพิ่มความเสี่ยงอื่น ๆ ต่อสขภาพ ดังต่อไปนี้
- เลือดออก การเจาะเครื่องประดับบนผิวหนังทำให้มีเลือดออกได้ และอาจทำให้ผิวหนังบริเวณจมูกมีอาการห้อเลือด ฟกช้ำ บวม ติดเชื้อหรืออาจลุกลามไปยังผิวหนังรอบ ๆ จนทำให้เกิดความเสียหายบริเวณใบหน้าได้
- ปฏิกิริยาแพ้ เครื่องประดับหรืออุปกรณ์เจาะส่วนใหญ่อาจมีส่วนประกอบของนิกเกิลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ อาจทำให้มีอาการคัน ผิวแดง พุพอง ผิวแห้งและหนา ผิวเปลี่ยนสี จึงควรเลือกวัสดุเครื่องประดับที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ทอง 18 หรือ 24 กะรัต สแตนเลส ไทเทเนียม (Titanium) ไนโอเบียล (Niobium)
- การติดเชื้อ แบคทีเรียและไวรัสที่อยู่ภายในจมูกและอุปกรณ์เจาะที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี บาดทะยัก
- เครื่องประดับอาจหลวมและหลุด เครื่องประดับที่ใส่ในรูจมูกอาจเลื่อนและหลุดได้ ดังนั้น ในขณะหายใจอาจเสี่ยงให้เครื่องประดับหลุดเข้าไปในรูจมูกหรืออาจติดในเยื่อจมูกจนทำให้เกิดอันตรายได้
- เส้นประสาทเสียหาย บริเวณจมูกเต็มไปด้วยเส้นประสาทจำนวนมาก ดังนั้น การเจาะจมูกอาจทำลายเส้นประสาทบางส่วนจนทำให้มีอาการชาหรือปวด
- รอยแผลเป็น การเจาะจมูกที่ไม่ถูกต้อง ไม่สะอาด จนก่อให้เกิดการติดเชื้อ อาจเสี่ยงทำให้เกิดก้อนเนื้อแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ได้
- การฉีกขาดหรือการบาดเจ็บ เครื่องประดับอาจมีความคมที่ทำให้เกิดแผลฉีกขาดหรือบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ หากเกิดบาดแผลเมื่อเจาะจมูก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจและประเมินอาการ บางครั้งอาจจำเป็นต้องเย็บแผล
- รูปร่างจมูกเปลี่ยนไป หากเจาะจมูกไม่ถูกวิธีหรือเจาะโดยผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด จนส่งผลให้รูปร่างของจมูกเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการและแผลหลังจากการเจาะจมูก หากมีความผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอทันที ได้แก่
- ความเจ็บปวดที่รุนแรงขึ้น แสบร้อนบริเวณที่เจาะ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือเป็นไข้
- ผิวหนังบริเวณที่เจาะไวต่อความรู้สึกมาก อ่อนนุ่มผิดปกติ รูมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเครื่องประดับหลวม
- ผิวหนังบริเวณที่เจาะมีกลิ่นเหม็น มีหนองสีเขียวหรือสีเหลืองไหลออกมาจากรูที่เจาะ
หากมีความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ควรถอดเครื่องประดับออกทันที เพราะอาจทำให้แผลที่เจาะตันและเชื้อแบคทีเรียฝังเข้าไปในเนื้อเยื่อลึกขึ้น จนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ ดังนั้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
เจาะจมูก และวิธีดูแลตนเอง
หลังจากเจาะจมูกในช่วงแรกอาจมีอาการปวดแผล ผิวหนังแดง เลือดออก มีอาการบวม ฟกช้ำ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2-4 เดือนกว่าแผลจะหายสนิท จึงควรดูแลแผลหลังเจาะจมูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสกับจมูกหรือเครื่องประดับที่ใช้เจาะจมูก
- ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือทำความสะอาดจมูกอย่างเบามือ วันละ 2 ครั้ง และซับบริเวณแผลให้แห้งด้วยกระดาษชำระหรือผ้าสะอาดทุกครั้งหลังเช็ดด้วยน้ำเกลือ
- เมื่อแผลเริ่มหายดีอาจถอดเครื่องประดับออกมาเพื่อล้างทำความสะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ เพื่อขจัดคราบน้ำมันและเชื้อแบคทีเรียที่สะสม
- หลีกเลี่ยงการลงไปแช่ในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น สระว่ายน้ำ แม่น้ำ คลอง ทะเลสาบ จนกว่าแผลที่จมูกจะหายดี และอาบน้ำฝักบัวแทนการแช่อ่างน้ำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส ถอดหรือขยับเครื่องประดับที่จมูกจนกว่าแผลจะหายดี
- นอนบนผ้าปูที่นอนและหมอนที่สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเครื่องนอน