backup og meta

แผลหนอง หรือ แผลเป็นหนอง อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา

แผลหนอง หรือ แผลเป็นหนอง อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา

แผลหนอง แผลเป็นหนอง หรือแผลอักเสบ เป็นลักษณะแผลติดเชื้อที่อาจมีน้ำหนองสีขาว สีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ แผลอาจเป็นรอยแดง มีอาการปวดและบวม หรือบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาการติดเชื้อบริเวณแผลอย่างถูกวิธีอาจช่วยป้องกันการเกิดแผลหนองและช่วยบรรเทาอาการได้

[embed-health-tool-bmr]

คำจำกัดความ

แผลหนอง คืออะไร

แผลหนอง หรือแผลเป็นหนอง คือ บาดแผลที่มีการติดเชื้อจนอักเสบและลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้มีน้ำหนองไหลออกมาจากแผล บริเวณแผลบวม แดง ร้อน และปวด เนื่องจากเซลล์เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เชื้อโรค และเซลล์เม็ดเลือดขาวบริเวณแผลรวมตัวกับของเหลวใสที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยสมานแผลจนกลายเป็นแผลหนอง โดยหนองจะค่อย ๆ ขยายตัวเมื่อการติดเชื้อเริ่มแย่ลง

อาการ

อาการของแผลหนอง

อาการของแผลหนองอาจมีดังนี้

  • มีไข้
  • มีรอยแดงรอบ ๆ แผล
  • มีอาการปวดและบวมบริเวณแผล
  • แผลมีริ้วสีแดง สีขาว หรือสีครีม
  • แผลมีน้ำหนองสีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีขาว
  • แผลมีกลิ่นเหม็น

สาเหตุ

สาเหตุของแผลหนอง

แผลเป็นหนองอาจเกิดจากร่างกายสร้างของเหลวใสรอบ ๆ แผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นชุ่มชื้นขึ้น โดยของเหลวใสนั้นประกอบไปด้วยโปรตีน น้ำตาล และเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่ซ่อมแซมบาดแผลและป้องกันการติดเชื้อ แต่ในบางครั้ง หากผิวบริเวณแผลชุ่มชื้นมากเกินไปก็อาจทำให้เชื้อโรคแทรกผ่านเกราะป้องกันที่ร่างกายสร้างขึ้นและเข้าไปในแผลได้ จากนั้นเชื้อโรคจะเพิ่มจำนวนจนทำให้แผลติดเชื้อและกลายเป็นแผลหนอง หนองที่เกิดขึ้นอาจมีสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาล และอาจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดแผลหนอง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้แผลติดเชื้อและแผลเป็นหนอง มีดังนี้

  • แผลสัมผัสเชื้อโรค เช่น เชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ
  • เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 หรือโรคอ้วน
  • เป็นบาดแผลที่เกิดจากสัตว์หรือมนุษย์กัด
  • มีวัตถุแปลกปลอมในแผล เช่น แก้ว ไม้
  • แผลมีขนาดใหญ่และลึก
  • มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ อาจทำให้หลอดเลือดเล็กตีบ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปรักษาบาดแผลได้อย่างเหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนของแผลหนอง

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นแผลหนองอาจมีดังนี้

  • แผลเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อแผลไม่หายภายใน 8 สัปดาห์
  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียของชั้นผิวหนัง
  • โรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูกหรือไขกระดูก
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) เป็นภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยแผลหนอง

คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติและตรวจบาดแผล คุณหมออาจตรวจดูบาดแผล สอบถามสาเหตุของแผลว่าเกิดจากอะไร และสอบถามอาการเบื้องต้น
  • ตรวจเลือดหาการติดเชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ
  • ตรวจด้วยการเพาะเชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างหนองและเนื้อเยื่อแผลไปเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุและความผิดปกติของเชื้อ

การรักษาแผลหนอง

การรักษาแผลหนองจำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุของการติดเชื้อ โดยการเอาน้ำหนองออกจากแผลจนหมด ทำความสะอาดแผลด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วใช้ผ้าก๊อซปิดแผล ในบางกรณี หากพบว่ามีฝีเกิดขึ้นบริเวณแผลเนื่องจากการติดเชื้อ คุณหมออาจจำเป็นต้องระบายเอาหนองออกจากฝีทั้งหมดและทำความสะอาดแผลอีกครั้งด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ

ในกรณีร้ายแรง มีการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นจนกลายเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับแผลหนอง

การดูแลตัวเองที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดแผลหนอง อาจมีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดแผลเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย
  • ห้ามเลือดโดยการใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าสะอาดกดเบา ๆ บริเวณแผล จากนั้นยกแผลสูงจนเลือดหยุดไหล
  • ล้างแผลและขจัดสิ่งสกปรกหรือเศษขยะออกจากแผลโดยใช้แหนบที่ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ จากนั้นจึงล้างแผลด้วยการเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านแผลเพื่อช่วยล้างเชื้อแบคทีเรียออกจากแผล แล้วจึงล้างผิวหนังรอบ ๆ บาดแผลด้วยสบู่ ไม่ควรใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือไอโอดีน (Iodine) ในการล้างแผล เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
  • ทายาปฏิชีวนะเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นและช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็น
  • ปิดแผลและพันแผลด้วยผ้าพันแผลสะอาด
  • เปลี่ยนผ้าพันแผลโดยทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือเมื่อผ้าพันแผลเปียกหรือสกปรก
  • หากไม่เคยฉีดวัคซีนกันบาดทะยักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นแผลลึกและสกปรก ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
  • ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากพบสัญญาณการติดเชื้อที่ผิวหนังใกล้บาดแผล เช่น ผิวมีรอยแดง มีหนอง บวม หรือมีอาการปวด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[Treatment of patients with purulent wound infection under conditions of extreme north]. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20209999/. Accessed May 30, 2023.

What Is Purulent Drainage?. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-purulent-drainage. Accessed May 30, 2023.

Cuts and scrapes: First aid. https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-cuts/basics/art-20056711. Accessed May 30, 2023.

Wound infection. https://dermnetnz.org/topics/wound-infections. Accessed May 30, 2023.

Wound Infection. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/wound-infection/. Accessed May 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี

เจาะจมูก การดูแลแผล และความเสี่ยงต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา