backup og meta

ผื่นแดง อาการ สาเหตุ และการป้องกัน

ผื่นแดง อาการ สาเหตุ และการป้องกัน

ผื่นแดง มักเกิดจากการอักเสบของผิวหนัง อาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า แขน ขา หรืออาจลุกลามทั่วร่างกาย ผื่นแดงมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย เช่น โรคผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อ การแพ้ยา อาจมีอาการคัน ระคายเคือง ผื่นแดงบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องรักษาและสามารถหายเอง อย่างไรก็ตาม หากเป็นขั้นรุนแรงควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับการรักษาตามอาการที่เหมาะสม

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ผื่นแดง คืออะไร

ผื่นแดง คือ ลักษณะอาการทางผิวหนังที่เกิดรอยแดง บวม ระคายเคือง บางครั้งอาจมีอาการคัน อาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนของร่างกาย หรืออาจลุกลามเป็นบริเวณกว้างทั่วร่างกาย ผื่นแดงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บุคคลที่มีผื่นแดงอาจหายเองได้ อย่างไรก็ตาม บางกรณีอาจต้องรักษาด้วยยาหรือไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาตามสาเหตุของการเกิดผื่นแดง  

ผื่นแดงพบได้บ่อยแค่ไหน 

ผื่นแดงสามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทที่พบ เช่น ลมพิษ ส่วนมากพบในผู้ที่แพ้อาหาร หรือสารเคมีบางชนิด อาจสามารถตรวจทดสอบภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้จากทางโรงพยาบาล 

อาการ

อาการของผื่นแดง

ลักษณะอาการของผื่นแดงอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลและสาเหตุ โดยอาการอาจมีดังต่อไปนี้ 

  • อาการคัน ระคายเคืองผิวหนัง 
  • ผิวหนังมีรอยแดง ลักษณะเป็นปื้น
  • ผิวแห้งหรือลอกเป็นขุย อาจเกิดจากการเกา
  • มีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ
  • ปวดแสบปวดร้อน

ควรพบคุณหมอเมื่อใด

ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ใบหน้า แขนและขาบวม  
  • วิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกปวดคอ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง รวมถึงปวดข้อ 
  • สีผิวเปลี่ยนแปลง
  • อาเจียนหรือท้องเสียต่อเนื่อง
  • การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียง่ายกว่าปกติ รวมถึงมีหนองสะสมมาก 
  • หายใจลำบาก  

สาเหตุ

สาเหตุของผื่นแดง

ผื่นแดงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้ 

  • สภาพอากาศที่ร้อน ชื้น ทำให้เกิดการสะสมของเหงื่อและอุดตัน เป็นผื่นแดง 
  • แมลงกัดต่อย แมลงหลายชนิดอาจทำให้เกิดผื่นขึ้นได้เมื่อถูกกัดหรือต่อย เช่น หมัด ไรฝุ่น มักอาศัยอยู่ภายในเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว
  • ผลข้างเคียงของการใช้ยาหรืออาการแพ้ยา ระยะแรกเริ่มจะมีสีแดงและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำออกม่วง หากมีปฏิกิริยาแพ้ยาที่รุนแรงอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
  • สัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น น้ำยาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สีย้อมผ้า อาจก่อให้เกิดการแพ้ และมีอาการคันป็นผื่นแดง 
  • อีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) เป็นผื่นคันจุดแดงเล็ก ปรากฎที่ใบหน้าและลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย และพัฒนากลายเป็นตุ่มพองใส หลังจาก 48 ชั่วโมง ตุ่มพองจะแห้ง และอาการจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล 
  • มือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีแผลที่คอ ลิ้น และปาก เวลากลืนอาหารหรือน้ำอาจลำบาก 
  • แผลพุพอง เป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แผลพุพองสีแดงปรากฏขึ้นบริเวณรอบปากและจมูก หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ 
  • โรคฟิฟธ์ (Fifth Disease) เกิดจากการติดเชื้อ parVovirus B19 มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยจะแสดงอาการออกมาภายใน 4 วัน อาจเกิดรอยแดงที่แขน ลำตัว ผื่นแดงบริเวณแก้ม 2 ข้าง 
  • กลาก เกลื้อน การติดเชื้อราของผิวหนังส่งผลให้ผิวหนังมีอาการผื่นคัน ลอกเป็นขุย   อย่างไรก็ตาม กลากสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ โดยการสัมผัสทางผิวหนังกับบุคคลหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • โรคผิวหนังอักเสบ อาการอักเสบชนิดเรื้อรังที่พบได้ตามบริเวณผิวหนัง เยื่อเมือกบุผิว มีลักษณะตุ่มนูนแบนสีม่วงคล้ำหรือปื้นสีขาวคล้ายลูกไม้บริเวณในปาก ช่องคลอด 
  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้นก่อตัวเป็นเกล็ดสีเงินหนา ทำให้เกิดอาการคัน ผิวลอก และผื่นแดง
  • โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) เป็นไวรัสชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส บริเวณที่พบได้บ่อยคือ แนวบั้นเอว หรืออาจเกิดขึ้นที่ใบหน้า แขนหรือขา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนมากที่ก่อให้เกิดผื่นแดง คือ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และผื่นมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของการติดเชื้อ 

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดผื่นแดง

การเกิดผื่นแดงอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  • สภาวะแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น มีละอองเกสร แมลง ขนสัตว์ หรือบริเวณที่มีสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ 
  • การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม
  • อากาศ เช่น อากาศหนาวอาจทำให้ผิวแห้ง อาจเกิดอาการคันและเป็นผื่นแดงได้ 
  • แพ้ยา แพ้อาหาร หากบุคคลที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากหายใจไม่ออก 

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผื่นแดง 

การวินิจฉัยเบื้องต้น คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายและสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เช่น ประวัติการเจ็บป่วย ลักษณะอาการ อาหารและยาที่รับประทาน รวมถึงการตรวจอื่น ๆ เช่น 

  • การตรวจชิ้นเนื้อ และส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการทดสอบว่าผื่นแดงเกิดจากสาเหตุใด 
  • การตรวจเลือด เพื่อเช็คความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • การตรวจปฏิกิริยาภูมิแพ้ เป็นการตรวจเช็คว่าร่างกายแพ้อะไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นแดงขึ้น

การรักษาผื่นแดง 

ผื่นแดงที่ไม่ค่อยรุนแรงอาจสามารถจางหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา ดังต่อไปนี้ 

  • ยาทาภายนอก ที่มีส่วนประกอบของตัวยา เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) อาจช่วยบรรเทาอาการคัน บวม และรอยแดง 
  • โลชั่นบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
  • ยาแก้แพ้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • บำบัดด้วยแสง โดยใช้รังสียูวีเอ (UVA) หรือรังสียูวีบี (UVB) เพื่อรักษา

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง 

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจช่วยป้องกันการเกิดผื่นแดงได้ นอกจากนี้ การดูแลตนเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยอาจปฏิบัติได้ดังนี้ 

  • ประคบเย็น อาบน้ำเย็น เนื่องจากความเย็นอาจช่วยลดอาการคันได้ และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ร้อนและมีความชื้นมากเกินไป
  • ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป
  • ทำผิวให้แห้ง หลังจากออกกำลังกาย หรือหลังจากอาบน้ำ
  • สวมเสื้อผ้าสบาย หลวม หรือระบายอากาศได้ดี
  • ลดน้ำหนัก 
  • ลดความตึงเครียด โดยหากิจกรรมทำ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสพวกสารเคมี เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ น้ำยาย้อมผม 
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด สำหรับบุคคลที่รู้ว่าตนเองแพ้ เช่น อาหารทะเล แพ้แป้งสาลี แพ้นมวัว 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Slide show: Common skin rashes. https://www.mayoclinic.org/skin-rash/sls-20077087. Accessed October 28, 2021 

Caregiving: Preventing Rashes in the Groin Area. https://www.uofmhealth.org/health-library/abq1461. Accessed October 28, 2021 

12 SUMMER SKIN PROBLEMS YOU CAN PREVENT. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/routine/prevent-summer-skin-problems. Accessed October 28, 2021 

Rashes. https://medlineplus.gov/rashes.html. Accessed October 28, 2021 

Rashes. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/common-rashes. Accessed October 28, 2021 

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/11/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นแดงหลังการโกนขน คืออะไร และวิธีบรรเทาอาการ

ผื่น คน ท้อง มีอะไรบ้าง และเป็นอันตรายหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา