backup og meta

ฟิลเลอร์ ฉีดแล้วอันตรายไหม มีผลข้างเคียงอย่างไร

ฟิลเลอร์ ฉีดแล้วอันตรายไหม มีผลข้างเคียงอย่างไร

ฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็ม เป็นสารที่ฉีดเข้าใบหน้าหรือบริเวณต่าง ๆ ของใบหน้า เช่น ใต้ตา ริมฝีปาก โหนกแก้ม หน้าผาก เพื่อลดเลือนริ้วรอย และทำให้บริเวณที่ถูกฉีดอวบอิ่มน่ามองยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ฟิลเลอร์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) กรดพอลิแลกติก (Polylactic Acid) และแคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Calcium Hydroxyapatite)

[embed-health-tool-bmi]

ฟิลเลอร์ คืออะไร

ฟิลเลอร์ (Filler) หรือสารเติมเต็ม หมายถึงสารต่าง ๆ ที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหน้า เพื่อลดเลือนริ้วรอยต่าง ๆ และทำให้ผิวหน้าเต่งตึงแลดูอ่อนเยาว์

ทั้งนี้ นอกจากการฉีดฟิลเลอร์เข้าสู่บริเวณผิวหน้าแล้ว ยังนิยมฉีดฟิลเลอร์ตามบริเวณต่าง ๆ ดังนี้

  • ริมฝีปาก เรียกว่าการฉีดปากกระจับ เพื่อทำให้ริมฝีปากดูอวบอิ่มมากขึ้น
  • ใต้ตา เพื่อแก้ปัญหาใต้ตาดำ ร่องใต้ตาลึก และริ้วรอยต่าง ๆ ที่มักจะเห็นเด่นชัดเมื่ออายุมากขึ้น
  • คาง เพื่อช่วยเสริมให้คางที่สั้นดูยาวขึ้น ใบหน้าดูเรียวขึ้น
  • แผลเป็น เพื่อฟื้นฟูรอยแผลเป็น หรือช่วยให้แผลเป็นจากสิวหรือหลุมสิวดูตื้นขึ้น
  • กรอบหน้า เพื่อช่วยเติมรูปหน้าให้ดูสมมาตรมากขึ้น
  • หน้าผาก เพื่อลดรอยเหี่ยวย่อนและทำให้หน้าผากดูเต่งตึงอวบอิ่มเสริมสร้างภาพลักษณ์

ฟิลเลอร์ ที่นิยมฉีด มีอะไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่ สารฟิลเลอร์ ที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะค่อนข้างปลอดภัยต่อการฉีดเข้าสู่ใบหน้า อย่างไรก็ตาม หากเป็นสารฟิลเลอร์ปลอม และฉีดโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญอาจเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ ฟิลเลอร์ที่นิยมฉีดกันได้แก่สารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

กรดไฮยาลูรอนิค

กรดไฮยาลูรอนิค เป็นสารที่พบได้ในเนื้อเยื่อของมนุษย์ มีคุณสมบัติกระตุ้นการผลิตโปรตีนคอลลาเจนในผิวหนัง จึงช่วยให้ผิวหนังกระชับ เต่งตึง และชุ่มชื้นหลังฉีด

นอกจากนี้ กรดไฮยาลูรอนิคยังไม่กระจุกตัวเป็นก้อนเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย และนำออกจากร่างกายได้ง่ายหากพบปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่ใช้สำหรับฉีดควรอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณหมอ และสารตัวนี้คือฟิลเลอร์ที่มีจำหน่ายแล้วใช้มากที่สุดในประเทศไทย

ข้อเสียของกรดไฮยาลูรอนิค คือผลลัพธ์อยู่ไม่นาน หรือประมาณ 6-12 เดือน เพราะกรดไฮยาลูรอนิคจะค่อย ๆ ถูกสลายโดยเอนไซม์ในร่างกายตามธรรมชาติซึ่งค่อนข้างปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอันตราย

แคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์

แคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์ เป็นสารธรรมชาติที่พบได้ในกระดูก มีคุณสมบัติกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ใช้ฉีดเพื่อแก้ปัญหาริ้วรอยระดับปานกลางถึงลึก และทำให้แก้มและส่วนอื่น ๆ ของใบหน้าดูเต็มตื้นหรืออวบอิ่มยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการฉีดแคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์ 1 ครั้งจะคงอยู่นานประมาณ 1 ปีหรือนานกว่านั้น แต่มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดดูขาวหรือสว่างกว่าผิวหนังบริเวณรอบ ๆ

กรดพอลิแลกติก

กรดพอลิแลกติก เป็นสารฟิลเลอร์ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนของร่างกาย ใช้ฉีดเพื่อแก้ปัญหาร่องแก้มลึก ริ้วรอยใต้ตาจากการสูญสลายของไขมัน และริมฝีปากที่บางเกินไป และสามารถเติมที่ตำแหน่งอื่นๆตามต้องการได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อฉีดเข้าร่างกายแล้ว กรดพอลิแลกติกจะไม่ให้ผลลัพธ์ในทันที แต่จะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์จึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

ทั้งนี้ การฉีดกรดพอลิแลกติก 1 ครั้ง จะให้ผลลัพธ์นานประมาณ 2 ปี

โพลีเมทิล เมทาคริเลต ไมโครสเฟียร์

โพลีเมทิล เมทาคริเลต ไมโครสเฟียร์ (Polymethyl-Methacrylate Microspheres หรือ PMMA) เป็นฟิลเลอร์กึ่งถาวรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ปัญหาริ้วรอยระดับปานกลางถึงลึก โดยเฉพาะปัญหาร่องแก้ม และบางครั้งยังใช้เพื่อรักษาแผลเป็นรวมถึงฉีดเพื่อให้ริมฝีปากที่บางดูหนาอวบอิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ข้อเสียของโพลีเมทิล เมทาคริเลต ไมโครสเฟียร์ คือต้องฉีดหลายครั้งจึงจะเห็นผล และต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่าจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ แต่ผลลัพธ์จะคงอยู่นานประมาณ 5 ปี  แต่ในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย

ไขมัน

ไขมัน เป็นสารอีกชนิดที่สามารถฉีดเข้าสู่ใบหน้า เพื่อรักษาปัญหาใบหน้าหย่อนคล้อย ช่วยลดเลือนริ้วรอยต่าง ๆ และแก้ปัญหาโครงหน้า อย่างแก้มตอบหรือโหนกแก้มสูงเกินไป

ปกติแล้ว ไขมันที่ฉีดเข้าใบหน้าจะนำมาจากไขมันหน้าท้อง สะโพก หรือต้นขาของเจ้าของใบหน้าเอง และเมื่อฉีดแล้ว จะเห็นผลลัพธ์ในทันที โดยผลลัพธ์มักคงอยู่เป็นเวลานานหลายปีหรืออาจถึงสิบปี ขึ้นกับคุณภาพไขมันและสุขภาพของผู้ที่เข้ารับการฉีด

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี การฉีดไขมันหน้าอาจต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน

นอกจากนี้ หลังฉีดไขมันหน้าไปแล้ว ไขมันจำนวนหนึ่งจะสูญสลายไป แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อรูปหน้า

ผลข้างเคียงจากการฉีด ฟิลเลอร์

หลังฉีดฟิลเลอร์แล้ว ผู้รับการฉีดอาจพบผลข้างเคียงที่อาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน เช่น รอยแดงจากเข็ม ผิวบวมแดง ช้ำเลือด ขณะเดียวกัน ผู้รับการฉีดบางรายอาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรืออาจเป็นอันตรายได้ ดังนี้

  • ผื่นแดง ตุ่มคล้ายสิว
  • ผิวหนังแดง ช้ำ หรือมีเลือดออก
  • ใบหน้าไม่สมดุล หรือเบี้ยว มีก้อนบวมบนใบหน้า
  • แผลหรือแผลเป็น
  • ผิวหนังติดเชื้อ
  • เซลล์ผิวหนังตาย เนื่องจากมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ
  • ตาบอด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น

ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการฉีดฟิลเลอร์ ก่อนตัดสินใจฉีด ควรศึกษาข้อมูลของคุณหมอและคลินิกหรือสถานเสริมความงามอย่างละเอียด เพราะการฉีดฟิลเลอร์โดยคุณหมอหรือสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

หลัง ฉีดฟิลเลอร์ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรโทรสอบถามคลินิกหรือสถานเสริมความงาม หรือรีบเข้าพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What types of dermal fillers are available?. https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/dermal-fillers/types. Accessed December 7, 2022

Learn about injectable dermal fillers. https://www.americanboardcosmeticsurgery.org/procedure-learning-center/non-surgical/injectable-fillers-guide/#:~:text=What%20are%20Injectable%20Dermal%20Fillers,creases%2C%20or%20enhance%20facial%20contours. Accessed December 7, 2022

Face and lip fillers (dermal fillers). https://www.nhs.uk/conditions/cosmetic-procedures/dermal-fillers/. Accessed December 7, 2022

Dermal Filler Do’s and Don’ts for Wrinkles, Lips and More. https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/dermal-filler-dos-and-donts-wrinkles-lips-and-more. Accessed December 7, 2022

Dermal Fillers (Soft Tissue Fillers). https://www.fda.gov/medical-devices/aesthetic-cosmetic-devices/dermal-fillers-soft-tissue-fillers#:~:text=Dermal%20fillers%2C%20also%20known%20as,sides%20of%20the%20nose%20to. Accessed December 7, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/02/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา กับสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนเข้ารับการรักษา

ฉีดฟิลเลอร์ ประโยชน์และข้อควรระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา