backup og meta

รังสีอัลตราไวโอเลต ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร

รังสีอัลตราไวโอเลต ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร

รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet หรือ UV) เป็นคลื่นแสงที่พบได้ในดวงอาทิตย์และอุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น หลอดไฟ ไฟฉาย โดยรังสีอัลตราไวโอเลตอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพผิว เช่น ริ้วรอย จุดด่างดำ ความเหี่ยวย่น นอกจากนี้ เมื่อผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เซลล์ผิวกลายพันธ์ุและกลายเป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่เป็นอันตราย

รังสีอัลตราไวโอเลต คืออะไร

รังสีอัลตราไวโอเลต คือ ส่วนหนึ่งของพลังงานตามธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดหลักจากดวงอาทิตย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถทำร้ายผิวหนังได้ โดยประเภทของรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • รังสีอัลตราไวโอเลตเอ (Ultraviolet A หรือ UVA) มีความยาวคลื่นที่ยาวและมีพลังงานที่น้อยกว่ารังสียูวีบี อาจส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมสภาพ และทำให้เกิดปัญหาผิว เช่น ริ้วรอย ผิวหนังหย่อนคล้อย
  • รังสีอัลตราไวโอเลตบี (Ultraviolet B หรือ UVB) มีความยาวคลื่นสั้น ส่งผลต่อปัญหาผิวและทำให้เกิดปัญหาผิวไหม้แดด

การสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง 2 ประเภท ในระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ DNA ในเซลล์ผิวหนังเสื่อมสภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางพันธุกรรมหรือการกลายพันธุ์ และนำไปสู่ริ้วรอยก่อนวัย จุดด่างดำ ต้อกระจก ต้อเนื้อ หรืออาจร้ายแรงจนเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้

รังสีอัลตราไวโอเลต พบได้ที่ไหนบ้าง

ในปัจจุบันแหล่งกำเนิดแสงอัลตราไวโอเลตมีอยู่รอบตัวจึงทำให้หลีกเลี่ยงได้ยาก แหล่งกำเนิดแสงอัลตราไวโอเลต มีดังนี้

  • แสงแดด เป็นแหล่งกำเนิดหลักของรังสีอัลตราไวโอเลต โดยรังสีอัลตราไวโอเลตประเภทต่าง ๆ จะตกกระทบสู่พื้นดินในปริมาณที่ต่างกัน คือ ประมาณ 95% ของรังสี UV จากดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นเป็นรังสี UVA ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นรังสี UVB
  • การฉายแสง เป็นวิธีการรักษาปัญหาผิวบางประการ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตในการรักษา
  • หลอดไฟ ส่วนใหญ่จะให้แสงรังสีอัลตราไวโอเลตประเภท UVA แต่ด้านในของหลอดไฟจะมีตัวกรองรังสีเพื่อป้องกันแสงส่วนใหญ่ที่อาจทำร้ายผิว
  • โคมไฟ สำหรับใช้ให้ความสว่างในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ถนน สวนสาธารณะ โรงยิม โดยหลอดไฟประเภทนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ หลอดไฟด้านในที่ปล่อยแสงและรังสีอัลตราไวโอเลต และหลอดไฟด้านนอกที่กรองรังสียูวีออก
  • ไฟซีนอน (Xenon) คือไฟที่บรรจุก๊าซซีนอน ทำให้ได้ไฟที่มีความสว่างมาก อาจพบได้ในไฟหน้ารถ หรือใช้สำหรับการฆ่าเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรรม เป็นต้น
  • เตียงอาบแดดและโคมไฟแสงแดด (Sunlamps and sunbeds) ปริมาณและประเภทของรังสีอัลตราไวโอเลตที่ได้รับอาจขึ้นอยู่ชนิดของโคมไฟที่ใช้ ระยะเวลา และลักษณะการนอนอาบแดด

ผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลตต่อผิวหนัง

รังสีอัลตราไวโอเลตทั้งจากธรรมชาติและจากแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจสร้างอันตรายให้กับผิวหนังและสุขภาพได้ ดังนี้

  • มะเร็งผิวหนัง ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตในปริมาณมาก หรือการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดการกลายพันธุ์ และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งผิวหนังชนิดต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinomas) โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (Basal Cell Carcinomas) นอกจากนี้ อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Nonmelanoma Skin Cancers) ที่อาจพบได้น้อยแต่มีความรุนแรงได้อีกด้วย
  • ผิวไหม้จากแดด เมื่อผิวสัมผัสกับแสงแดดรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้มีอาการผิวไหม้ แสบผิว ผิวแดง และผิวลอกได้
  • ผิวเสื่อมก่อนวัย การโดนแสงแดดเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวเสื่อมก่อนวัยอันควร และอาจทำให้ผิวหนาขึ้น เกิดริ้วรอย เหี่ยวย่น และจุดด่างดำ
  • ปัญหาสายตา แสงแดดอาจส่งผลต่อกระจกตา ทำให้กระจกตาอักเสบ หรือไหม้ได้ นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มเสี่ยงของต้อกระจกและต้อเนื้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาว
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไปอาจยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และการป้องกันผิวหนัง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง และปัญหาผิวหนังมากขึ้น เช่น รอยเหี่ยวย่น จุดด่างดำ โรคผิวหนัง

การป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต

การดูแลสุขภาพผิวเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตอาจทำได้ ดังนี้

  • อยู่ในอาคาร ในช่วงเวลาที่มีแดดจัดระหว่างเวลา 10.00-16.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณของรังสีอัลตราไวโอเลตมากที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากอาคาร เพราะอาจทำให้ผิวได้รับอันตรายจากแสงแดดมากขึ้น
  • สวมหมวก เสื้อผ้ากันยูวี และแว่นกันแดด หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในช่วงเวลาที่แดดจัด ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เพื่อปกป้องผิวและดวงตาให้ปลอดภัยจากรังสีอัลตราไวโอเลต
  • ใช้ครีมกันแดด ครีมกันแดดอาจสามารถช่วยปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ โดยควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อการปกป้องผิวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • หลีกการใช้เตียงอาบแดด เนื่องจากเตียงอาบแดดเป็นอุปกรณ์เลียนแบบแสงตามธรรมชาติ การใช้เป็นเวลานานและบ่อยครั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการอาบแดด เนื่องจากการนอนอาบแดดจะส่งผลให้ผิวหนังได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง และเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวไหม้ หรืออาจเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง
  • สำหรับอาชีพที่ต้องสัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเลตโดยตรงและบ่อยครั้ง ควรใส่ชุดป้องกันในขณะทำงาน เช่น หน้ากากป้องกันรังสี เสื้อและกางเกงขายาว แว่นตากันแดด รวมถึงควรปฏิบัติตามข้อควระวังด้านความปลอดภัยของแต่ละอาชีพอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันแสงที่อาจทำร้ายดวงตาและผิว

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ultraviolet (UV) Radiation. https://www.cancer.org/cancer/cancer-causes/radiation-exposure/uv-radiation.html#:~:text=UV%20rays%2C%20either%20from%20the,actinic%20keratosis%2C%20and%20solar%20elastosis. Accessed December 21, 2021

UV Radiation & Your Skin. https://www.skincancer.org/risk-factors/uv-radiation/. Accessed December 21, 2021

UV Radiation and the Skin. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3709783/. Accessed December 21, 2021

Effects of UV Exposure. https://stanfordhealthcare.org/medical-conditions/cancer/skin-cancer/causes-skin-cancer/effects-uv-exposure.html. Accessed December 21, 2021

Radiation: Effects of ultraviolet (UV) radiation on the skin, eyes and immune system. https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/Radiation-effects-of-ultraviolet-(uv)-radiation-on-the-skin-eyes-and-immune-system. Accessed December 21, 2021

Health Effects of UV Radiation. https://www.epa.gov/sunsafety/health-effects-uv-radiation. Accessed December 21, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/08/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แสงแดด ส่งผลกระทบต่อผิวอย่างไร และการป้องกัน

อาการแพ้แดด อันตรายจากแสงอาทิตย์ที่ใครหลายคนควรระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา