backup og meta

รูขุมขนกว้าง สาเหตุ วิธีรักษาและลดรูขุมขนกว้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

    รูขุมขนกว้าง สาเหตุ วิธีรักษาและลดรูขุมขนกว้าง

    รูขุมขนกว้าง เป็นอีกปัญหาผิวที่อาจส่งผลให้ใครหลายคนสูญเสียความมั่นใจและเลือกที่จะปดปิดด้วยการแต่งหน้า ถึงแม้ว่าพฤติกรรมนี้อาจปกปิดร่องรอยได้เพียงชั่วคราว แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาผิวด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น การเกิดสิว เนื่องจากรูขุมขนอุดตันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก ดังนั้น เพื่อช่วยให้รูขุมขนกระชับ ควรดูแลผิวอย่างถูกต้อง

    รูขุมขนกว้าง คืออะไร

    รูขุมขนกว้าง คือ รูขุมขนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่อาจเกิดจากการที่ต่อมน้ำมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากเกินไป ส่งผลให้รูขุมขนขยายขึ้น เพื่อขับน้ำมันส่วนเกินออกมา นอกจากนี้ รูขุมขนกว้าง ยังอาจเกิดจากการที่สิ่งสกปรก น้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว ไปอุดตันในรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว สิวอักเสบ สิวตุ่มหนอง สิวหัวขาว ทั้งยังเสี่ยงต่อการทำให้เกิดแผลเป็นได้อีกด้วย

    สาเหตุที่ทำให้รูขุมขนกว้าง

    สาเหตุที่ทำให้รูขุมขนกว้าง มีดังนี้

    • ต่อมน้ำมันใต้ผิวผลิตน้ำมันส่วนเกินมากเกินไป
    • อายุที่มากขึ้น เนื่องอาจทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น หรือมีสุขภาพผิวที่อ่อนแอลง
    • ถูกแสงแดดทำร้ายผิวเป็นเวลานาน
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับผิว
    • ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ของผู้หญิงอาจเปลี่ยนแปลงมีระดับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนมีรอบเดือนที่อาจส่งผลให้รูขุมขนขยายกว้าง หรือเกิดสิว

    การรักษารูขุมขนกว้าง

    สำหรับการรักษารูขุมขนกว้างอาจทำได้ดังนี้

    การรักษารูขุมขนกว้างด้วยตัวเอง

    อาจทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมที่ส่งผลกระตุ้นต่อการผลิตน้ำมัน เช่น ล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ลดการขัดผิวรุนแรง ใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผิว หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง 

    การรักษารูขุมขนกว้างด้วยเทคนิคทางการแพทย์ 

    คุณหมออาจให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเรตินอล (Retinol) เพื่อกระชับรูขุมขน ซึ่งควรทาช่วงเวลาก่อนเข้านอน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด มลภาวะที่อาจขัดขวางการทำงานของเรตินอล การใช้เรตินอลอาจไม่เหมาะสำหรับสตรีครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอก่อนการใช้ นอกจากนี้ การรักษาด้วยเลเซอร์ที่มุ่งเป้าลดความมันบนใบหน้าก็อาจช่วยให้ต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันน้อยลง ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการอุดตันของรูขุมขน รวมถึงช่วยลดการขยายตัวของรูขุมขน แต่ก็อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวแดง แสบ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ใช้ยารักษาเฉพาะจุด เช่น เรตินอล กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เรติน เอ (Retin-A)

    วิธีลดขนาดรูขุมขนและดูแลผิว

    วิธีลดขนาดรูขุมขนเพิ่มความกระชับ อาจทำได้ดังนี้

    • เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวให้เหมาะสม และมีส่วนประกอบของสังกะสี แมกนีเซียม โรคสแมรี่ ลาเวนเดอร์ กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เรตินอยด์ เพราะอาจช่วยปรับความสมดุลของการผลิตน้ำมัน ลดการระคายเคืองและป้องกันรูขุมขนขยาย นอกจากนี้ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ควรดูว่ามีข้อความ ไม่ก่อให้เกิดสิว บนผลิตภัณฑ์หรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลให้อุดตันรูขุมขนเพิ่ม
    • ล้างหน้า การล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อาจช่วยกำจัดน้ำมันที่อุดตันในรูขุมขน เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้น้ำมันสะสมในรูขุมขนมากเกินไปจนทำให้รูขุมขนขยาย
    • ทาครีมกันแดด หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 อย่างต่ำ สวมใส่หมวกเพื่อป้องกันแสงแดด อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00-16.00 น. เพราะเป็นช่วงที่แดดแรงและสามารถส่งผลเสียต่อผิวได้
    • รักษาสิว สิวมีความเชื่อมโยงที่อาจส่งผลให้รูขุมขนกว้าง ดังนั้น ควรรักษาสิวด้วยยารักษาสิวที่คุณหมอผิวหนังหรือเภสัชกรแนะนำ สิวแต่ละชนิดอาจใช้ยารักษาที่แตกต่างกัน เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) แดพโซน (Dapsone) หรืออาจเป็นยาเม็ดในรูปแบบรับประทาน ได้แก่ ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) เตตราไซคลีน แดพโซน (Dapsone) (Tetracyclines) มิโนไซคลีน (Minocycline)  ไตรเม็ทโทพริม(Trimethoprim) ซัลฟาเมทอกซาโซล (Sulfamethoxazole)
    • ลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น มันฝรั่งทอด คุกกี้ อาจส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผิวอักเสบจนนำไปสู่การอุดตันของรูขุมขน ควรเปลี่ยนเป็นการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ผัก ผลไม้
    • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เครื่องสำอางอาจส่งผลให้รูขุมขนขยายกว้างหรืออุดตัน ซึ่งนำไปสู่การเกิดสิวขึ้น หากจำเป็นต้องแต่งหน้าควรล้างหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน และหมั่นเช็กวันหมดอายุเครื่องสำอางอยู่เสมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา