backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

สิวผด สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

สิวผด สาเหตุ อาการ และการรักษา

สิวผด เป็นภาวะทางผิวหนังที่อาจแตกต่างจากปัญหาสิวทั่วไป อาจมีอาการคล้ายคลึงกับผดร้อนที่เกิดจากการแพ้เหงื่อ ความร้อน และความระคายเคือง หรือรูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา ซึ่งอาจทำให้มีอาการผิวแดง เป็นตุ่มเล็ก ๆ กระจายบนผิวหนัง ผิวไม่เรียบเนียนสม่ำเสมอ มักเกิดขึ้นบริเวณหน้าผาก ขมับ คาง อาการเหล่านี้อาจหายไปเอง แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นอาจต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม

คำจำกัดความ

สิวผด คืออะไร

สิวผด คือ ภาวะทางผิวหนังที่อาจเกิดจากอาการแพ้ เช่น แพ้เหงื่อ แพ้ความร้อน แพ้มลภาวะ มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย และผู้ที่มีพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้เกราะป้องกันผิวอ่อนแอ จนอาจทำให้เกิดสิวผดหรืออาการของผดร้อนขึ้น หรืออาจเกิดจากรูขุมขนอักเสบจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia species) โดยมีลักษณะภายนอกเป็นผดผื่น ตุ่มแดงเล็ก ๆ จำนวนมากกระจายบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะหน้าผาก ขมับ โดยสิวผดจะไม่มีหัวเหมือนสิวทั่วไป

สิวผดบางครั้งอาจถูกเรียกว่า สิวอุดตัน (Comedonal) มักเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตันจากเหงื่อใต้ผิวหนัง หรืออาจเกิดจากร่างกายขับเหงื่อมากเกินไป สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย และสัมผัสกับความร้อน สิ่งสกปรก มลภาวะ หรือสารเคมี

อาการ

อาการสิวผด

อาการของสิวผดที่พบบ่อย มีดังนี้

  • เป็นผื่นตุ่มนูนเล็ก ๆ มีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร กระจายบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ขมับ
  • ผิวไม่เรียบเนียนสม่ำเสมอ
  • ผิวอักเสบ ทำให้มีตุ่มแดงและบวมเล็กน้อย อาจมีอาการคันและอาจมีตุ่มหนอง

สิวผดมักไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองเมื่อผิวหนังเย็นขึ้น แต่หากมีดังต่อไปนี้ หรืออาการรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • ปวด บวม ผิวแดง หรือบริเวณผดมีอุณหภูมิสูงขึ้น
  • มีไข้ หรือหนาวสั่น
  • มีหนองไหลออกจากแผล
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณรักแร้ คอ กรอบหน้า

สาเหตุ

สาเหตุสิวผด

สิวผดเกิดจากต่อมเหงื่ออุดตัน ทำให้ระบายเหงื่อไม่ได้ และมีเหงื่อสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง จนเกิดการอักเสบและเป็นผดผื่นขึ้น แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการอุดตัน แต่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง ดังนี้

  • ภูมิอากาศเขตร้อน ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ร้อนชื้น อาจมีเหงื่อออกได้ง่าย และทำให้เกิดผดร้อนได้
  • กิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังกาย การทำงานหนัก อาจทำให้เหงื่อออกมากและเกิดสิวผดได้
  • อุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป อาจเกิดจากการใส่เสื้อผ้าหนา ไม่ระบายอากาศ หรืออยู่ในพื้นที่ร้อนอบอ้าว ทำให้อุณภูมิในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวผดได้
  • การนอนเป็นเวลานาน สิวผดอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ต้องนอนบนเตียงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากมีไข้และมีเหงื่อออกมาก
  • การระคายเคือง แรงกดและแรงเสียดสีที่ผิวหนัง เช่น การใส่หมวก การใช้ผ้าคาดผม หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่รุนแรงเกินไป อาจส่งผลให้ผิวระคายเคืองและแพ้ง่ายขึ้น
  • เกราะป้องกันผิวอ่อนแอ เกราะป้องกันผิว (Skin Barrier) ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น และป้องกันปัจจัยภายนอกทำอันตรายผิว เมื่อเกราะป้องกันอ่อนแอลงอาจทำให้เกิดปัญหาผิว เช่น ผิวแห้ง แดงคัน มีสิวผดเล็ก ๆ ผิวไวต่อการระคายเคือง

สิวผดที่เกิดจากเชื้อรา อาจเรียกว่า สิวเชื้อราหรือสิวยีสต์ เกิดจากรูขุมขนอักเสบจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia species) ที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง แต่หากเชื้อเจริญเติบโตผิดปกติอาจทำให้เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่มีเหงื่อออกง่าย อาศัยอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น หรือผู้ที่มีรูขุมขนอุดตันจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงสิวผด

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดสิวผด มีดังนี้

  • อายุ มักพบในทารกแรกเกิด เพราะผิวอาจบอบบางมากที่สุด รวมถึงวัยรุ่นเพศชาย
  • ถิ่นที่อยู่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนออาจเสี่ยงเป็นผื่นจากความร้อนง่ายกว่าและมากกว่าผู้ที่อยู่ในเขตอากาศที่เย็น
  • มลภาวะ เชื้อโรค สิ่งสกปรก และเชื้อรา ที่กระจายตัวอยู่ในอากาศอาจทำให้เกิดการอุดตันและเกิดสิวผด
  • การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยากลุ่มเตตร้าซัยคลิน (tetracyclines) ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผิวระคายเคือง หรืออุดตัน
  • สภาพผิว ผู้ที่มีผิวหนังบอบบางและแพ้ง่าย ผิวขาดน้ำ หรือรูขุมขนอักเสบ อาจเกิดสิวผดได้ง่ายกว่า
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย ความอ้วน การสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ระบายความร้อน อาจทำให้เหงื่อออกมากขึ้นและเกิดผื่นจากความร้อนได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยสิวผด

สิวผดคือปัญหาผิวหนังทั่วไป โดยคุณหมออาจวินิจฉัยโดยการสังเกตลักษณะภายนอกของผิวหนัง สาเหตุของการเกิดสิว หรืออาการที่แสดงบนผิวหนังเท่านั้น อาจไม่ต้องใช้การทดสอบอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม

การรักษาสิวผด

การหลีกเลี่ยงพื้นที่อุณหภูมิสูง หรืออากาศร้อน อาจทำให้สิวผดระดับเบาหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา เมื่อผิวเย็นลงสิวผดอาจหายไปเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นคุณหมออาจรักษาด้วยวิธี ดังนี้

ยาเฉพาะที่

  • สเตียรอยด์เฉพาะที่ ใช้ในกรณีที่รุนแรงและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ตุ่มหนองอักเสบ มีอาการคัน
  • เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ดูดซับน้ำมันบนผิว
  • กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน

ยารับประทาน

  • ยาปฏิชีวนะ และยาฆ่าเชื้อรา
  • ยาคุมกำเนิด อาจใช้ร่วมกับสไปโรโนแล็กโตน (Spironolactone) เป็นยาต้านแอนโดรเจน ช่วยควบคุมการผลิตไขมัน
  • ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) ยากลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ มักใช้รักษาในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการโรคผิวหนัง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันปัญหาสิวผด มีดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าหลวม น้ำหนักเบา ระบายอากาศ และช่วยดูดซับความชื้นออกจากผิว หลีกเลี่ยงการใส่ผ้าคาดผมหรือหมวกปิดผิวเมื่อมีเหงื่อออก เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันได้
  • หากอากาศภายนอกร้อนมากหรือมีแดดจัด ควรอยู่ในที่ร่ม เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ ทำให้บ้านและผิวเย็นลง
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวแห้งและบางลงได้ ควรใช้สบู่สูตรอ่อนโยนที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง หลังจากนั้นทามอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลหรือน้ำมัน เพราะอาจอุดตันรูขุมขนได้
  • ล้างหน้าเป็นประจำอย่างน้อย 30 วินาที โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือกลับมาจากข้างนอก และควรเช็ดเครื่องสำอางให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันการอุดตัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำพวกน้ำตาล ไขมัน หรือผลิตภัณฑ์จากนมมากเกินไป เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตันในบางคน
  • หากสิวผดมีอาการรุนแรงขึ้น ให้รีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้ยารักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา