สิวหิน หรือสิวข้าวสาร เป็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ บนใบหน้า ซึ่งสิวหินนี้แท้จริงแล้วคือก้อนซีสต์ที่ชื่อว่า มิเลีย (Milia) โดยปกติมักขึ้นบนใบหน้าของทารกแรกเกิด บริเวณ คาง จมูก และแก้ม แต่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่สามารถป้องกันสิวชนิดนี้ได้ มักหายไปเองในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์
สิวหิน หรือ มิเลีย เป็นอย่างไร
สิวหิน หรือสิวข้าวสาร คือก้อนซีสต์มิเลีย (Milia) ขนาดเล็กที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง มีลักษณะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร พบได้มากที่สุดในเด็กทารกแรกเกิด แต่ขณะเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่ในบางคนโดยเฉพาะช่วงบริเวณ จมูก ดวงตา แก้ม และหน้าผาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดมิเลียขึ้นมานั้น เป็นไปได้ว่าอาจมาจากการสะสมของเคราติน (Keratin) หรือโปรตีนของชั้นผิวหนังที่ถูกสะสมไว้ จึงทำให้ปรากฏออกมาเป็นลักษณะตุ่มนูนสีขาวอยู่บนผิวหน้า อีกทั้งยังอาจเป็นผลมาจากการใช้ครีมสเตรียรอยด์ และถูกแสงแดดมากเกินไป
ประเภทของมิเลีย
-
มิเลีย ในเด็กแรกเกิด (Neonatal milia)
เป็นสิวหินที่เกิดขึ้นได้และอาจหายไปเองโดยใช้เวลาไม่นาน หรือประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังคลอด โดยส่วนใหญ่มักจะเห็นก้อนซีสต์นี้ได้ที่ใบหน้า หนังศีรษะ และลำตัวส่วนบน โดยพบเด็กทารกแรกเกิดพบกับปัญหาสิวหินนี้ 40 เปอร์เซ็นต์
-
มิเลียในเด็กและผู้ใหญ่ (Primary milia)
ถึงแม้สิวหินอาจหายไปได้เอง แต่ก็เป็นไปได้ที่ตุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้จะปรากฏบนใบหน้าเป็นเวลาหลายเดือน โดยมักพบได้ทั้งบริเวณเปลือกตา แก้ม หน้าปาก และอวัยวะเพศ
-
มิเลียทางพันธุกรรม (Milia en plaque)
ภาวะนี้มักมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือภูมิต้านทาน เช่น โรคลูปัสดิสรอยด์ (Discoid lupus) ที่ปรากฏอยู่ตามเปลือกตา หู แก้ม รวมไปถึงสันกราม โดยตุ่มสิวหินอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหลายเซนติเมตรก็ได้
-
มิเลียชนิดคันระคายเคือง (Multiple eruptive milia)
ในบางราย สิวหินอาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองแก่ผิวหนังได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบหน้า แขน ลำตัว และอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่สิวหินจะหายไปเอง
ลักษณะอาการของมิเลียที่ปรากฎเด่นชัด
สิวหิน หรือ มิเลีย มีลักษณะเป็นตุ่มสีขาว หรือสีเหลือง โดยสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า มักปรากฎอยู่ตามส่วนต่าง ๆ บนใบหน้า เช่น เปลือกตา แก้ม จมูก ในบางรายก็อาจเกิดขึ้นบริเวณลำตัว และอวัยวะเพศได้เช่นเดียวกัน
ที่สำคัญสิวหินมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดเหมือนการเกิดสิวแต่อย่างใด แต่อาจมีการระคายเคืองบ้างเล็กน้อยหากใบหน้าหรือบริเวณที่มีสิวหินสัมผัสกับวัตถุที่มีพื้นผิวหยาบ เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เสื้อผ้า
วิธีรักษาทางการแพทย์
ในกรณที่สิวหินเกิดขึ้นในเด็กทารกแรกเกิด ต้องปล่อยให้หายไปเอง เพราะโดยปกติแล้วก้อนซีสต์เหล่านี้จะค่อย ๆ จางหายไปได้เมื่อทารกโตขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่หากเกิดสิวหินในเด็กที่โตขึ้น หรือผู้ใหญ่ อาจต้องเข้าขอรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- การบำบัดด้วยความเย็น หรือไนโตรเจนเหลว
- ทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ เพื่อผลัดเซลล์ผิว
- การลอกผิวด้วยสารเคมีบางชนิด เพื่อให้ผิวหนังใหม่เผยออกมา
- เลเซอร์เพื่อเอาก้อนสิวหินออก
วิธีดังกล่าว ควรเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเท่านั้น ไม่ควรรักษาด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด และควรหมั่นทำความสะอาดผิวหน้าอยู่เสมอด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว และอย่าลืมปกป้องผิวหน้าด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำต่อเนื่อง เพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่เป็นสิวหินเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดดโดยตรง
[embed-health-tool-heart-rate]