backup og meta

แสงแดด ส่งผลกระทบต่อผิวอย่างไร และการป้องกัน

แสงแดด ส่งผลกระทบต่อผิวอย่างไร และการป้องกัน

การปล่อยให้ผิวโดน แสงแดด เป็นเวลานานโดยที่ไม่มีการป้องกัน อาจทำให้ผิวถูกทำร้ายได้ เช่น สีผิวคล้ำขึ้น ผิวไหม้ สีผิวไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง รวมถึงทำให้ผิวแก่ก่อนวัยอันควร ดังนั้น เมื่อต้องออกนอกบ้าน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ก่อนออกจากบ้าน 20 นาที เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง

แสงแดด ทำร้ายผิวอย่างไร

การเผชิญกับแสงแดดมากเกินไป โดยขาดการป้องกัน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และผิวแก่ก่อนวัย อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหาผิวอื่น ๆ ดังนี้

ผิวคล้ำขึ้นและสีผิวไม่สม่ำเสมอ

ผิวจะเพิ่มการผลิตเม็ดสี หรือที่เรียกกว่า เมลานิน (Melanin) ซึ่งเป็นเม็ดสีที่มีสีน้ำตาลเข้มอยู่ในผิวหนังอิพิเดอร์มิส (Epidermis) หรือผิวหนังชั้นนอกสุด เมื่อเมลานินเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น แต่เมลานินก็อาจมีส่วนช่วยป้องกันผิวจากแสงแดด แต่หากเมลานินถูกผลิตมากเกินไปอาจทำให้ผิวดูคล้ำขึ้นหรือผิวเป็นสีแทน ในบางกรณีแสงแดดอาจทำให้การผลิตเมลานินเพิ่มขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ จนส่งผลให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ มีริ้วรอยก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ แสงยังอาจทำให้เส้นเลือดฝอยขยายออกอย่างถาวร อาจส่งผลให้ผิวมีรอยด่าง และมีรอยแดงปรากฏขึ้น

ผิวแห้ง

การเผชิญกับแสงแดดอาจทำให้ผิวค่อย ๆ สูญเสียความชุ่มชื้น และน้ำมัน ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้ง ขาดน้ำจนลอกเป็นขุย และอาจมีริ้วรอยก่อนวัยอันควร

ผิวไหม้แดด

ผิวไหม้แดด (Sunburn) คือ อาการบาดเจ็บผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ผิวเผชิญกับรังสียูวี อาการผิวไหม้แดดที่ไม่รุนแรง อาจทำให้ผิวแดงและเจ็บปวดเล็กน้อย แต่อาการไหม้แดดที่รุนแรงอาจทำให้เกิดเม็ดพุพอง (Vesicles) หรือเกิดตุ่มพองขนาดใหญ่

การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของคอลลาเจนผิวหนัง

โฟโตเอจจิง (Photoaging) คือ ภาวะผิวแก่ก่อนวัย อาจมีสาเหตุมาจากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (UV) ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ (Dermis)

นอกจากนี้ รอยช้ำห้อเลือด (Senile Purpura) อาจเกิดจากการที่ผิวโดนแสงแดดมากเกินไปได้เช่นกัน โดยเกิดขึ้นเนื่องจากรังสียูวีทำร้ายโครงสร้างของคอลลาเจนที่รองรับผนังของเส้นเลือดฝอยของผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลทำให้หลอดเลือดมีความเปราะบางมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะแตกออกหากถูกกระทบเล็กน้อย

ผู้ที่ต้องระวังแสงแดดเป็นพิเศษ

ทุกคนอาจได้รับผลกระทบจากการได้รับแสงยูวีมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรป้องกันผิวจากแสงแดด นอกจากนี้ ยังอาจมีคนบางกลุ่มที่ต้องระวังแสงแดดเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่น ๆ ดังนี้

  • ผู้ที่มีผิวสีซีด
  • ผู้ที่มีผมสีบลอนด์ สีแดง หรือสีน้ำตาลอ่อน
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
  • ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง

แสงแดด-ปัญหาผิวหนัง-วิธีป้องกัน

การป้องกันผิวจาก แสงแดด

สำหรับวิธีการป้องกันผิวจากแสงแดดอาจทำได้ ดังนี้

  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำ โดยควรเลือกครีมกันแดดที่กันน้ำ และมีค่า SPF 50 นอกจากนี้ ยังควรเลือกครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีเอ และรังสียูวีบี รวมถึงควรทาครีมกันแดดทุก ๆ 2 ชั่วโมง
  • ควรใช้ลิปสติกที่มีคุณสมบัติป้องกันแสงแดด เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวริมฝีปาก
  • จำกัดเวลาที่อยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงที่แดดจัดในเวลาประมาณ 10.00-14.00 น.
  • สวมแว่นตา ที่สามารถป้องกันรังสียูวี
  • สวมกางเกงขายาว เสื้อแขนยาว และหมวก เพื่อป้องกันผิวจากแสงแดด
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผิวเสียหายจากแสงแดดเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดแอลฟาไฮดรอกซี (Alpha-Hydroxy Acids หรือ AHA) ซึ่งอาจทำให้ผิวได้รับผลกระทบจากแสงแดดได้ง่าย

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอผิวหนังทันที หากมีอาการเหล่านี้

  • ผิวแห้ง และไม่มีปฏิกิริยาเวลาใช้ครีมบำรุง
  • ผิวไหม้แดดอย่างรุนแรงจนเกิดความเจ็บปวด และไม่สามารถนอนหลับได้หรือไม่สามารถใส่เสื้อผ้าได้
  • ไฝเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • มีเลือดออกผิดปกติบนผิวหนัง หรือผิวฟกช้ำได้ง่าย

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sun-Damaged Skin. https://www.health.harvard.edu/a_to_z/sun-damaged-skin-a-to-z. Accessed on February 25 2019.

Sun Safety: Save Your Skin. https://www.webmd.com/beauty/sun-safety-save-your-skin#1. Accessed on February 25 2019.

Sun damage. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/multimedia/sun-damage/sls-20076973?s=1. Accessed on February 25 2019.

Photoaging (Sun Damage). https://www.yalemedicine.org/conditions/sun-damage. Accessed February 15, 2022

Sun-Damaged Skin. https://www.webmd.com/melanoma-skin-cancer/ss/slideshow-sun-damaged-skin. Accessed February 15, 2022

WRINKLES AND OTHER SIGNS OF SUN-DAMAGED SKIN CAN BE TREATED. https://www.aad.org/public/everyday-care/sun-protection/sun-damaged/wrinkles-sun-damage-can-be-treated. Accessed February 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/10/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ครีมกันแดด ประเภท วิธีการใช้ และสารที่ควรเลี่ยง

แว่นกันแดด ช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา