backup og meta

แบคทีเรียกินเนื้อ หรือ Necrotizing fasciitis คือ อะไร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา

แบคทีเรียกินเนื้อ หรือ Necrotizing fasciitis คือ อะไร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา

Necrotizing fasciitis คือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ยากแต่ร้ายแรงมาก ส่งผลต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้มีอาการบวม แดง และปวดรุนแรง หากไม่รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเนื้อตาย รวมไปถึงอาจทำให้ร่างกายช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ Necrotizing fasciitis หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อมักแสดงอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน หากพบว่ามีอาการเข้าข่ายว่าอาจเป็นโรคนี้ จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

Necrotizing fasciitis คือ โรคอะไร

Necrotizing fasciitis หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังชั้นที่ลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อและพังผืดโดยรอบ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคไต หรือเป็นโรคตับแข็ง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การติดเชื้ออาจแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง สับสน ไปจนถึงช็อก ซึ่งอาการอาจรุนแรงจนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ การวินิจฉัยโรคและการรักษาตั้งแต่ระยะต้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ จึงควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

สาเหตุของ Necrotizing fasciitis

โรคแบคทีเรียกินเนื้อส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น โรคคอหอยอักเสบ โรคหัวใจรูมาติก โดยชื่อเรียกโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคกินเนื้อไม่ได้มาจากการกัดกินเนื้อของแบคทีเรีย แต่มาจากการที่แบคทีเรียชนิดนี้ปล่อยสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อของผิวหนังและกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณนั้น โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้ามาทางผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นแผลจากการผ่าตัด รอยฉีดยา รอยข่วน หรือแม้กระทั่งแผลทั่วไปที่เกิดได้ในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นรอยแดงที่กดแล้วรู้สึกเจ็บ และจะรู้สึกเจ็บแผลมากกว่าแผลเดิมที่เป็นอยู่แล้ว โดยผิวหนังที่ติดเชื้ออาจลุกลามไปบริเวณใกล้เคียงได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

อาการของ Necrotizing fasciitis

อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นตามระดับการติดเชื้อที่ลุกลาม จึงควรไปพบคุณหมอทันทีที่แผลบวม ปวดแสบร้อน โดยอาการเริ่มต้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อจะมีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย อาการที่พบอาจมีดังนี้

  • มีไข้สูงต่อเนื่อง หรืออุณหภูมิในร่างกายอาจลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ซึ่งเป็นภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว จนอุณหภูมิร่างกายน้อยกว่า 35 องศาเซลเซียส และอาจเกิดภาวะขาดน้ำด้วย
  • รู้สึกเจ็บบริเวณแผลมากกว่าแผลเดิมที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
  • บริเวณที่ติดเชื้ออาจมีลักษณะลื่นมัน บวม แดง และร้อนมากเมื่อสัมผัส
  • เนื้ออาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีคล้ำ เป็นรอยด่างดำ
  • เกิดเป็นแผลพุพอง ตุ่มน้ำ
  • หากโรคลุกลามถึงขั้นรุนแรงอาจทำให้รู้สึกชา และเส้นประสาทไม่ทำงานอีกต่อไป จนเกิดเป็นเนื้อตาย
  • อาจเกิดการช็อก ภาวะเลือดเป็นพิษ ภาวะอวัยวะล้มเหลว เช่น ไต ตับ ปอด และอาจเสียชีวิตได้

วิธีการรักษา Necrotizing fasciitis

ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยทันทีที่ตรวจพบว่าเป็นโรค Necrotizing fasciitis หรือแบคทีเรียกินเนื้อ และอาจต้องใช้การรักษาหลายวิธีและใช้เวลาหลายสัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น ขอบเขตของการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคเมื่อเริ่มการรักษา โดยวิธีรักษาอาจมีดังนี้

  • การให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำโดยตรง
  • การผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก ในกรณีที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขาที่ติดเชื้อออกเพื่อป้องกันเชื้อลุกลามไปส่วนอื่นของร่างกาย
  • การรักษาประคับประคอง (Supportive treatment) เป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต รักษาระดับของเหลวในร่างกาย และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ

วิธีป้องกันไม่ให้เกิด Necrotizing fasciitis

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ อาจทำได้ดังนี้

  • หากร่างกายมีแผลควรรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว ให้ล้างแผลแบบให้น้ำไหลผ่าน แล้วเช็ดหรือซับแผลเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาดให้แผลแห้ง
  • รักษาบาดแผลให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ เมื่อแผลแห้งแล้วควรปิดด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อ เช่น พลาสเตอร์ และเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อเปียกหรือสกปรก
  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือล้างมือด้วยเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • รักษาโรคติดเชื้อทางผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า ให้หายสนิท อย่าปล่อยไว้โดยไม่รักษา เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อ
  • หากมีแผลเปิดควรหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น อ่างน้ำร้อน สระว่ายน้ำ ทะเล น้ำตก แม่น้ำ โดยเฉพาะหากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดบาดแผลบนร่างกาย และหากเกิดแผล ควรดูแลแผลให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Necrotizing Fasciitis (Flesh-Eating Bacteria). https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/necrotizing-fasciitis-flesh-eating-bacteria. Accessed May 31, 2022

Necrotizing Fasciitis: All You Need to Know. https://www.cdc.gov/groupastrep/diseases-public/necrotizing-fasciitis.html. Accessed May 31, 2022

Necrotising fasciitis. https://www.nhs.uk/conditions/necrotising-fasciitis/. Accessed May 31, 2022

Necrotizing Fasciitis. https://rarediseases.org/rare-diseases/necrotizing-fasciitis/. Accessed May 31, 2022

Necrotizing soft tissue infection. https://medlineplus.gov/ency/article/001443.htm. Accessed May 31, 2022

“แบคทีเรียกินเนื้อ”. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1124. Accessed May 31, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แบคทีเรียในรองเท้า วายร้ายใกล้ตัวที่คุณอาจกำลังละเลย!

แหล่งสะสม แบคทีเรีย ในบ้านที่เราอาจคาดไม่ถึง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา