backup og meta

เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง รักษาให้หายขาดอย่างไร

เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง รักษาให้หายขาดอย่างไร

เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทั่วไป อาจทำให้เกิดผื่นแดงลักษณะเป็นวง ๆ มีขอบนูนชัดเจนและเป็นขุยขึ้นกระจายบนผิวหนัง ร่วมกับมีอาการคันและระคายเคือง และอาการอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน ก้น จนอาจก่อให้เกิดความอึดอัดรำคาญจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เชื้อราที่ขาหนีบผู้หญิงมักรักษาได้ด้วยการทายาต้านเชื้อราวันละ 1-2 ครั้งติดต่อกันทุกวัน ส่วนใหญ่แล้วเมื่อทายาประมาณ 2-3 สัปดาห์ อาการทางผิวหนังจะค่อย ๆ หายไปในที่สุด แต่หากดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง คืออะไร

เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิงเป็นเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่พบบ่อยที่สุดคือ ทริโคไฟตอน รูบรัม (Trichophyton rubrum) และเอพิเดอร์โมไฟตอน ฟลอกโคซัม (Epidermophyton floccosum) เชื้อรากลุ่มนี้เป็นสาเหตุของโรคสังคัง (Jock itch หรือ Tinea cruris) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงและการสัมผัสกับพื้นผิวหรือของใช้ที่มีเชื้อติดอยู่ เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หมอน ผ้าปูที่นอน

เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิงมักพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้น เชื้อราจะอาศัยอยู่บนผิวหนังและกินเคราตินซึ่งเป็นส่วนประกอบของผิวหนังชั้นนอก ผม และเล็บเป็นอาหาร จึงไม่พบการติดเชื้อในบริเวณเยื่อบุผิว แต่หากเชื้อราเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนมากเกินไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยเฉพาะผิวหนังในบริเวณที่อบอุ่นและชื้น เช่น ขาหนีบ อวัยวะเพศ ก้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง เช่น

  • เป็นโรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s Foot) เป็นเวลานาน จนเชื้อก่อโรคน้ำกัดเท้าลุกลามมาทำให้ติดเชื้อราที่บริเวณขาหนีบ
  • เคยติดเชื้อบริเวณขาหนีบมาก่อน
  • สวมกางเกงชั้นใน กางเกง หรือกระโปรงที่รัดแน่นจนเกินไป
  • มีภาวะสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน
  • ใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) รวมทั้งกินยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน

อาการของการติด เชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง

อาการของการติดเชื้อราที่ขาหนีบผู้หญิง อาจมีดังนี้

  • มีผื่นแดงรูปครึ่งวงกลมต่อ ๆ กัน มีขอบเขตนูนขึ้นชัดเจน ขึ้นกระจายตามผิวหนัง
  • มักเกิดการติดเชื้อที่บริเวณปากช่องคลอด ขาหนีบ และเชื้ออาจขยายไประหว่างทวารหนักและช่องคลอด
  • ผื่นแดงสามารถลุกลามไปยังด้านในของต้นขา ช่องท้องส่วนล่าง และบริเวณหัวหน่าว
  • มีตุ่มนูนคันและตุ่มหนองขึ้นตามแนวขอบของผิวหนังที่ติดเชื้อรา
  • มีอาการคัน

วิธีรักษาเชื้อรา ที่ขาหนีบผู้หญิง

การรักษาเชื้อราที่ขาหนีบผู้หญิง อาจทำได้ดังนี้

  • ใช้ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่ เช่น อิมิดาโซล (Imidazoles) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตและกำจัดเชื้อราก่อโรค
  • รับประทานยาต้านเชื้อรา เช่น เทอร์บินาฟีน อิทราโคนาโซล (Itraconazole) กริเซโอฟูลวิน (Griseofulvin) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) สำหรับการติดเชื้อที่ลุกลามและเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ทายาสเตียรอยด์เฉพาะที่แบบอ่อน เพื่อบรรเทาอาการคัน แต่ไม่ควรใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • ล้างบริเวณขาหนีบด้วยน้ำหรือน้ำเกลือเท่านั้น หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดและการใช้สบู่หอม เจลอาบน้ำ หรือผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม พาราเบน หรือแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้อาการระคายเคืองแย่ลง
  • หลังจากล้างน้ำบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศให้เช็ดให้แห้ง งดอับชื้น
  • ใช้ผ้าขนหนูแยกต่างหากเพื่อเช็ดบริเวณที่ติดเชื้อให้แห้ง หรือใช้ผ้าเช็ดตัวเช็ดบริเวณขาหนีบเป็นบริเวณสุดท้าย และควรซักผ้าเช็ดตัวทุกวัน
  • ล้างมือก่อนและหลังทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสวมชุดชั้นในที่คับ รัดเกินไป
  • สวมกางเกงชั้นในผ้าฝ้าย เพราะอาจช่วยดูดซับความชื้น ระบายอากาศได้ดี และทำให้ขาหนีบและผิวหนังโดยรอบอับชื้นเกินไป
  • หากมีน้ำหนักเกินให้ควบคุมน้ำหนัก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาฆ่าเชื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

การติดเชื้อราที่ขาหนีบสามารถรักษาให้อาการบรรเทาลงและหายสนิทได้ อย่างไรก็ตาม หากหยุดรักษาก่อนที่เชื้อราจะถูกกำจัดไปจนหมดหรือยังคงมีพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อรา ก็อาจทำให้ติดเชื้อซ้ำได้อีกในภายหลัง

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อรา

การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันไม่ให้ขาหนีบติดเชื้อราหรือป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

  • หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงตัวเดิมติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะกางเกงหนา ๆ เช่น กางเกงยีนส์
  • รักษาความสะอาดบริเวณขาหนีบให้ดี และดูแลให้ขาหนีบแห้งอยู่เสมอ
  • อาบน้ำเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังเหงื่อออกมากหรือหลังออกกำลังกาย หลังอาบน้ำควรเช็ดตัวให้แห้ง ไม่ควรสวมเสื้อผ้าขณะตัวยังเปียก
  • ซักเสื้อผ้าและชุดชั้นในหลังสวมใส่ทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนู ชุดชั้นใน ร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อราจนกว่าบุคคลนั้นจะรักษาจนหายสนิท

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal and groin irritation and infection. https://www.healthdirect.gov.au/vaginal-irritation-and-infection#:~:text=Groin%20infections%20can%20be%20caused,such%20as%20folds%20of%20skin. Accessed March 2, 2023

Jock Itch (Tinea Cruris). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22141-jock-itch-tinea-cruris. Accessed March 2, 2023

Tinea cruris. https://dermnetnz.org/topics/tinea-cruris. Accessed March 2, 2023

Slideshow: Fungus Among Us. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-fungus-infection. Accessed March 2, 2023

8 REASONS YOUR GROIN ITCHES AND HOW TO GET RELIEF. https://www.aad.org/public/everyday-care/itchy-skin/itch-relief/relieve-groin-itch. Accessed March 2, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เชื้อราที่ขาหนีบ สาเหตุของโรคสังคัง อาการ การรักษา

ผื่นเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา