backup og meta

เท้าเป็นเชื้อรา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    เท้าเป็นเชื้อรา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    เท้าเป็นเชื้อรา เป็นภาวะติดเชื้อราบริเวณเท้าและง่ามเท้า หรือที่เรียกว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต (Athlete’s Foot) มักทำให้มีอาการคัน ผิวลอกเป็นขุย บวมแดง ตกสะเก็ด หรือเกิดตุ่มน้ำใสบนผิวหนัง อาจเริ่มจากซอกนิ้วเท้าแล้วลุกลามไปบริเวณอื่น ๆ เช่น ฝ่าเท้า หลังเท้า นิ้วเท้า มักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกที่เท้ามาก โดยเฉพาะหากสวมรองเท้าและถุงเท้าที่หนาหรืออับชื้นเป็นเวลานาน ภาวะเท้าเป็นเชื้อราโดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการทายาหรือรับประทานยาต้านเชื้อราเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ร่วมกับการรักษาสุขอนามัย ไม่ใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า ร่วมกับผู้อื่น และดูแลให้เท้าแห้งอยู่เสมอ เพื่อให้เชื้อราที่เท้าหายไวขึ้นและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก

    สาเหตุที่ทำให้ เท้าเป็นเชื้อรา

    เท้าเป็นเชื้อรา มักเกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งเป็นเชื้อรากลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสังคัง (Jock itch) และโรคกลาก (Ringworm) เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมปิด อบอุ่น และอับชื้น เช่น พื้นที่เปียกแฉะ ผ้าเช็ดตัวหรือเสื้อผ้าเปียกชื้น และจะกินเคราตินซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในเส้นผม เล็บ และผิวหนังเป็นอาหาร เมื่อเชื้อราเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการคัน เป็นแผล และระคายเคืองตามเท้าและนิ้วเท้า ภาวะนี้สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ผ่านการใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ร่วมกับผู้ที่เป็นเชื้อราที่เท้า และอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ มือ หากใช้มือสัมผัสเท้าที่ติดเชื้อราหรือนำผ้าเช็ดตัวที่สัมผัสเชื้อไปเช็ดผิวหนังบริเวณอื่น

    การติดเชื้อราที่เท้ามักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกมากบริเวณเท้า สวมรองเท้าและถุงเท้าที่อับชื้น ออกกำลังกายจนเหงื่อชุ่มแล้วไม่ได้อาบน้ำหรือทำความสะอาดเท้าทันทีหลังออกกำลังกาย หรือเกิดในช่วงที่มีน้ำท่วมขังแล้วเท้าต้องเปียกน้ำเป็นเวลานาน

    ทั้งนี้ การติดเชื้อที่เท้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อรา เช่น การติดเชื้อแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นเชื้อยีสต์ที่พบได้ตามผิวหนังอยู่แล้ว แต่เชื้อเจริญเติบโตมากเกินไปจนทำให้ติดเชื้อ แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เท้าเป็นเชื้อรา อาจมีดังนี้

    • เป็นโรคเบาหวาน
    • เป็นโรคอ้วน
    • เป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือกินยากดภูมิคุ้มกัน
    • เป็นผู้ที่กินยาปฏิชีวินะติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
    • เป็นแผลที่เท้า
    • เป็นคนที่มีเหงื่อออกมาก
    • สวมรองเท้าที่ไม่ค่อยระบายอากาศ เช่น รองเท้าผ้าใบ รองเท้าหุ้มส้น เป็นประจำ
    • ไม่ค่อยทำความสะอาดรองเท้าและถุงเท้า หรือสวมถุงเท้าซ้ำ
    • สวมรองเท้าหรือถุงเท้าที่เปียกหรืออับชื้น
    • ใช้สิ่งของร่วมกับคนที่ติดเชื้อราที่เท้า เช่น เสื่อ เตียง เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า
    • เดินเท้าเปล่าในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องล็อกเกอร์ ห้องซาวน่า ริมสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ

    เท้าเป็นเชื้อรา อาการเป็นอย่างไร

    อาการของเท้าเป็นเชื้อรา อาจมีดังนี้

    • ผิวหนังบริเวณง่ามนิ้วเท้าลอกเป็นขุยหรือตกสะเก็ด
    • คันบริเวณหลังเท้า นิ้วเท้า ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า โดยเฉพาะหลังจากถอดรองเท้าและถุงเท้า
    • ผิวหนังบริเวณเท้าแสบร้อนหรือบวมแดง
    • มีตุ่มพองที่เท้า (Blisters)
    • เล็บเท้าอาจเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือสีขาว เล็บอาจหนาขึ้นหรือเปราะง่าย มีขุยใต้เล็บ

    ท้าเป็นเชื้อรารักษา ได้อย่างไร

    เท้าเป็นเชื้อราอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราดังต่อไปนี้ ร่วมกับการงดแกะเกาบริเวณที่ติดเชื้อรา เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อราที่เท้าไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

    • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาชนิดใช้ภายนอกในรูปแบบครีมที่ช่วยลดจำนวนเชื้อราบนผิวหนัง ใช้ทาประมาณ 2 ครั้ง/วัน ควรใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้ยาทุกครั้ง และควรเก็บให้ห่างจากมือเด็ก
    • อีโคนาโซล (Econazole) ยาชนิดใช้ภายนอกในรูปแบบครีมที่ช่วยรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราหลายชนิด เช่น โรคน้ำกัดเท้าหรือภาวะเท้าเป็นเชื้อรา โรคสังคัง โรคกลาก ใช้ทาประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน ก่อนทายาควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณง่ามเท้าและซอกเล็บเท้า และควรใช้ยาตามระยะเวลาที่คุณหมอสั่ง ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำในภายหลัง
    • ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ยาในรูปแบบครีม เจล และโลชั่นที่ช่วยรักษาการติดเชื้อราบนผิวหนัง เช่น โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) โรคน้ำกัดเท้าหรือเท้าเป็นเชื้อรา ด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ใช้ทาประมาณ 2 ครั้ง/วัน
    • ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ยาชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ลดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรใช้ยาตามที่คุณหมอสั่ง โดยทั่วไปคือ รับประทานประมาณ 2 ครั้ง/วัน ติดต่อกัน 1-4 สัปดาห์ขึ้นไป และควรรับประทานยาติดต่อกันจนครบตามขนาดที่กำหนดเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน เท้าเป็นเชื้อรา

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเท้าเป็นเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้

    • สวมรองเท้าที่ใส่สบายและระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้เท้าอับชื้นจนเกิดกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
    • ล้างเท้าให้สะอาดทุกวัน ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง แล้วใช้ผ้าขนหนูสะอาดเช็ดเท้าให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณซอกเล็บและง่ามเท้า สำหรับคนที่เสี่ยงเป็นเชื้อราที่เท้าควรโรยแป้งผงฆ่าเชื้อราที่เท้าเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราด้วย
    • ไม่สวมถุงเท้าซ้ำและควรเปลี่ยนใส่ถุงเท้าคู่ใหม่หากเหงื่อออกมากหรือถุงเท้าเปียกน้ำ และอาจเลือกสวมถุงเท้าผ้าฝ้ายเนื่องจากช่วยดูดซับความชื้น แห้งง่าย และระบายอากาศได้ดีกว่าถุงเท้าไนลอน
    • สลับใช้รองเท้าหลาย ๆ คู่ ไม่สวมรองเท้าคู่เดิมติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ควรนำรองเท้าไปผึ่งแดดหรือผึ่งลมหลังใช้งานเพื่อป้องกันรองเท้าอับชื้นและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
    • สวมรองเท้าแตะหรือรองเท้ากันน้ำเมื่อไปใช้บริการพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำ ห้องล็อกเกอร์ สระน้ำสาธารณะ
    • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว รองเท้า เครื่องนอน ร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อและการแพร่กระจายโรค
    • ถ้าหากเป็นคนเหงื่อออกเยอะผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาแนวทางการรักษาต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา