เชื้อราที่ขาหนีบ หรือโรคสังคัง คือโรคเชื้อราบนผิวหนังชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นแล้วมักมีอาการคันร่วมกับมีผื่นแดงขึ้นบริเวณขาหนีบ ซึ่งรักษาได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราต่าง ๆ ในรูปของโลชั่น ขี้ผึ้ง หรือครีมทาบริเวณที่ติดเชื้อ อาการเชื้อราที่ขาหนีบ สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาความสะอาดขาหนีบให้แห้งอยู่เสมอ พยายามสวมใส่กางเกงและชั้นในที่สะอาด ไม่รัดหรือแนบเนื้อจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดความอับชื้น
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
เชื้อราที่ขาหนีบ คืออะไร
เชื้อราที่ขาหนีบ เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เป็นสาเหตุของโรคสังคัง ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังชนิดหนึ่ง พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
เชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์เติบโตได้ดีในที่อบอุ่นและอับชื้น จึงมักพบเชื้อราที่ขาหนีบ หรือ โรคสังคังในนักกีฬา เพราะคนกลุ่มนี้สวมใส่เสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่ออยู่เสมอ เอื้อให้เชื้อราเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ ต้นขาด้านใน หรือทวารหนัก
นอกจากนั้น เชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ ยังเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้า เนื่องจากสภาพภายในรองเท้าที่อาจมีความอับชื้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราเช่นกัน และ
โรคน้ำกัดเท้าเองนับเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดเชื้อราที่ขาหนีบ เพราะเชื้อราที่เท้า อาจแพร่กระจายไปยังขาหนีบหรือบริเวณอื่น ๆ ได้ ผ่านการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อโรคแล้วไปจับร่างกายส่วนอื่น ๆ หรือการใช้ผ้าเช็ดตัวทำความสะอาดบริเวณที่มีเชื้อราแล้วนำมาเช็ดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อราที่ขาหนีบ ได้แก่
- ใส่กางเกงหรือกางเกงชั้นในที่รัดแน่นเกินไป ระบายอากาศไม่ดี
- มีการสะสมของปริมาณเหงื่อจำนวนมากในบริเวณขาหนีบ
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจทำให้ข้อพับหรือขาหนีบอับชื้น หรือเสียดสีจนเกิดเป็นแผล
- มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยอาจเกิดจากการที่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า
- สวมชุดว่ายน้ำหรือชุดเล่นกีฬาที่เปียกเหงื่อเป็นเวลานาน
- สัมผัสบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ระหว่างมีเพศสัมพันธ์
อาการ
อาการของเชื้อราที่ขาหนีบ
เชื้อราที่ขาหนีบ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่ผิวหนังมักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการคันบริเวณขาหนีบ หรือรอบ ๆ ทั้งหน้าขา บั้นท้าย ทวารหนัก อวัยวะเพศ
- เกิดผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังลักษณะเป็นวง ๆ มีขอบนูนชัดและมักมีขุย
- หากเกิดอาการคันและเกาจะทำให้ผิวหนังลอก เป็นขุย หรือตกสะเก็ดได้
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ควรรีบไปพบคุณหมอเมื่อพบความผิดปกติบริเวณขาหนีบ เช่น อาการคัน ผิวหนังมีรอยแดง เกิดผื่น โดยเฉพาะในกรณีของนักกีฬา หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ที่มีคู่นอนเป็นโรคสังคัง
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเชื้อราที่ขาหนีบ
เบื้องต้น คุณหมอจะวินิจฉัยเชื้อราที่ขาหนีบ โดยสังเกตอาการด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือคุณหมอไม่แน่ใจว่าสาเหตุของอาการที่เป็นเกิดจากเชื้อราที่ขาหนีบหรือไม่ คุณหมออาจขอขูดผิวหนังบางส่วนบริเวณที่ติดเชื้อไปตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของอาการคันหรือผื่นบริเวณขาหนีบว่าเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์เพื่อทำการรักษาให้ถูกกับโรค
การรักษาเชื้อราที่ขาหนีบ
เชื้อราที่ขาหนีบไม่สามารถหายไปเองได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อราอาจกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เล็บ เท้า อวัยวะเพศ ดังนั้น เมื่อมีอาการคัน เกิดผื่นขึ้นบริเวณขาหนีบ ควรไปพบคุณหมอ
วิธีการรักษาเชื้อราที่ขาหนีบ คุณหมอจะจ่ายยาต้านเชื้อราในรูปแบบของครีมหรือขี้ผึ้ง สำหรับทาบริเวณที่เป็น และอาจให้ใช้สบู่ฟอกสำหรับฆ่าเชื้อราร่วมด้วย ควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอติดต่อกันประมาณ 2-4 สัปดาห์
ทั้งนี้ หากอาการเชื้อราที่ขาหนีบไม่ดีขึ้น คุณหมออาจพิจารณารักษาด้วยยาที่แรงกว่าเดิม ซึ่งมักเป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน
ยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ ประกอบด้วย ไมโคนาโซล (Miconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
นอกจากนี้ ถ้าพบว่าคนไข้เป็นโรคน้ำกัดเท้าร่วมด้วย คุณหมอจะรักษาพร้อมเชื้อราที่ขาหนีบ เพื่อป้องกันเชื้อราแพร่กระจายจากเท้าไปยังขาหนีบ และทำให้เกิดอาการซ้ำ
การปรับไลฟ์สไตล์และดูแลตัวเอง
คำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อราที่ขาหนีบ
- ดูแลขาหนีบให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ ด้วยการเช็ดขาหนีบให้แห้งสนิทหลังอาบน้ำ เพื่อป้องกันเชื้อราเติบโตเนื่องจากความชื้น รวมทั้งดูแลเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อราที่ขาหนีบ
- เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เสื้อผ้าที่ใช้วัสดุที่ระบายความอับชื้นได้ดี หากพบว่าเหงื่อออกมากที่ขาหนีบ หรือบริเวณใต้ร่มผ้าอื่น ๆ อาจเปลี่ยนชุดชั้นใน หรือเสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่อเพื่อป้องกันการอับชื้น
- ไม่สวมชั้นในที่แน่นเกินไป การสวมชั้นในที่แน่นอาจรัดจนทำให้เกิดรอยหรือบาดผิวทำให้เกิดแผลบริเวณขาหนีบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบริเวณดังกล่าว
- ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเป็นพาหะของเชื้อราที่ขาหนีบได้ หากผู้นั้นเป็นเชื้อราที่ขาหนีบอยู่